นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน จัดรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” เช้าวันนี้ (26 พ.ค.) แทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ชี้แจงรายละเอียดแก้ปัญหาพลังงาน โดยมี นายธีรัตถ์ รัตนเสวี เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยนาอารักษ์กล่าวว่า กรณีค่าไฟฟ้าที่มีการปรับราคาขึ้นนั้น โดยต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เลื่อนปรับขึ้นในเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม รัฐบาลไม่มีส่วนในการกำหนดเรื่องการปรับขึ้นราคาค่าไฟฟ้า เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นองค์กรระดับภาคประชาชน ซึ่งรัฐบาลไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปดูแลตรงนั้น แต่ขอย้ำว่า กฟผ.ทำงานด้วยความโปร่งใสที่เล็งเห็นถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
ส่วนเรื่องต้นทุนพลังงานที่มีหลายฝ่ายมองว่ามีราคาปรับตัวสูงขึ้นนั้น ขอยืนยันว่าต้นทุนการผลิต 70% ที่ใช้แก๊ส ณ วันนี้ เรื่องถ่านหินมีการพัฒนาไปมาก และใช้ทดแทนและทำให้ค่าไฟถูกลง โดยที่จะทำให้ค่าไฟถูกลงนั้นได้นั้น ต้องพัฒนา 2 ด้าน คือ 1. ถ่านหิน 2. พลังงานนิวเคลียร์ ทางกระทรวงพลังงานเริ่้มสร้างความเข้าใจให้พี่น้องประชาชนเห็นว่าถ่านหินไม่เป็นอันตราย และมีจำนวนมากสามารถนำมาใช้เพื่อทดแทนการนำเข้าพลังงานได้ ซึ่งปัจจุบันมีการใช้แก๊สเพิ่มมากขึ้นภายในประเทศ และรัฐบาลได้นำเข้าแก๊สจากประเทศพม่าอีก 25% และนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งวิสัยทัศน์ของกระทรวงพลังงานคือประเทศต้องมีพลังงานที่ยั่งยืนที่เหมาะสมกับประชาชน
ส่วนราคาน้ำมันที่หลายฝ่ายมองว่ามีอัตราสูงนั้น นายอารักษ์กล่าวว่า หากเข้าไปดูจากฐานตัวเลขจะเห็นว่าไม่ได้แพงกว่าปีที่แล้ว แต่กลับถูกกว่าปีที่แล้วด้วยซ้ำ หากถ้าเราเตรียมตัวให้พร้อมในการวางระบบโครงสร้างพลังงาน เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งหากชดเชยมากเกินไป อีก 3 ปีอาจเดือดร้อน
“คนไทยใช้น้ำมันถูกบ้างแพงบ้าง ก็ต้องดูตามปัจจัยต่างๆ ส่วนเรื่องกองทุนน้ำมันที่ติดลบนั้น จุดประสงค์หลักของกระทรวง เพื่อให้มีพลังงานใช้อย่างยั่งยืน ตอนติดลบ 20,000 ล้านบาท เราก็เอากองทุนเบนซินไปชดเชย LPG, NGV ที่ใช้อยู่ ณ วันนี้หากเปรียบเทียบรายวันเป็นบวกไม่ติดลบ ซึ่งรายวันเป็นบวกถึง 32,000 ล้านบาท ตรงนี้มาจากคนใช้เบนซินจำนวนมากจึงนำมาชดเชยได้
ทั้งนี้ กระทรวงเดินหน้าส่งเสริมประชาชนใช้พลังงานทดแทน และดูแลราคาแก๊สหุงต้ม ไม่ให้กระทบต้นทุนราคาอาหารปรุงสำเร็จ ยืนยันการปรับโครงสร้างราคาพลังงานในอีก 2-3 เดือน จะไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน แต่เป็นการใช้ราคาพลังงานอย่างเหมาะสม เป็นธรรม”
ช่วงสุดท้ายของรายการ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงถึงโครงการถูกทั้งแผ่นดิน ที่นำสินค้าในสหกรณ์มาจำหน่าย ได้ผลตอบรับดี จนถึงวันนี้ 2 สัปดาห์เต็มมียอดขาย 80 ล้านบาท ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ ขยายไปในระดับอำเภอ นอกจากลดค่าครองชีพแล้ว ผู้บริโภคยังมีทางเลือก สินค้าสหกรณ์ บรรจุภัณฑ์ไม่แตกต่าง เมื่อดูคุณภาพคุณภาพไม่ต้องกังวล มีตัวชี้วัดว่าในร้านที่เปิดขายมีผู้บริโภคมาซื้อมากขึ้น และมีการซื้อซ้ำ
ขณะเดียวกันยังให้มีการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน ในระหว่างจังหวัด เป็นบาร์เตอร์เทรดแบบสหกรณ์ เช่น แลกน้ำมันพืชกับข้าวสาร ระบบนี้ทดลองแล้วบางที่ก็ได้ผล แต่ต้องส่งเสริมให้มากขึ้น ตั้งใจนำร่องคลังสินค้าส่งในจังหวัด ซึ่งจะประสานกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพาณิชย์ เชิญโชวห่วยในจังหวัดมาร่วมสมัครในสหกรณ์จำหน่ายสินค้าในราคาสหกรณ์ สมมติร้านโชว์ห่วยซื้อของจากสหกรณ์ไปบวกราคานิดหน่อยก็ยังถูกกว่าท้องตลาด ขณะเดียวกัน ประชาชนก็มีทางเลือกในการบริโภค พี่น้องสหกรณ์สามารถเพิ่มกำลังการผลิต เงินทองก็หมุนเวียนในตลาด ถือเป็นก้าวแรกที่จะทำให้ร้านค้าสหกรณ์ยืนได้ในร้านค้าหรือห้างต่างๆ และทำให้สมาชิกสหกรณ์มีรายได้
ส่วนการวัดผล ในเรื่องสหกรณ์เดินไปข้างหน้าเรื่องสินค้า ถ้านำร่องได้ใน 2-3 จังหวัดและได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคก็จะขยายพร้อมๆกันทั่วประเทศ นอกจากนี้จะมีการผลักดันให้มีการประกาศวาระแห่งชาติในเรื่องสหกรณ์ ซึ่งจะประกาศกันในเดือน ก.ค.นี้ หนึ่งในแนวคิดคือเม็ดเงินในสหกรณ์ 1.7 ล้านล้านบาท ส่วนหนึ่งจะปล่อยสินเชื่อให้โครงการของหน่วยงานรัฐ ทำให้สหกรณ์เป็นแหล่งสินเชื่อ ซึ่งจะทำให้สหกรณ์มั่นคงเพราะลูกหนี้เป็นหน่วยงานรัฐ เม็ดเงินก็หมุนอยู่ในนี้ กำลังมอบให้ทีมดูความเป็นไปได้ ข้อกฎหมายถ้าเดินไปจะเดินเรื่องนี้และประกาศเรื่องนี้ออกมาด้วย