วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

อารักษ์-ณัฐวุฒิ ออกรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยันเดินหน้าปรับโครงสร้างพลังงาน


นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน จัดรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” เช้าวันนี้ (26 พ.ค.) แทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ชี้แจงรายละเอียดแก้ปัญหาพลังงาน โดยมี นายธีรัตถ์ รัตนเสวี เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยนาอารักษ์กล่าวว่า กรณีค่าไฟฟ้าที่มีการปรับราคาขึ้นนั้น โดยต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เลื่อนปรับขึ้นในเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม รัฐบาลไม่มีส่วนในการกำหนดเรื่องการปรับขึ้นราคาค่าไฟฟ้า เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นองค์กรระดับภาคประชาชน ซึ่งรัฐบาลไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปดูแลตรงนั้น แต่ขอย้ำว่า กฟผ.ทำงานด้วยความโปร่งใสที่เล็งเห็นถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
     
ส่วนเรื่องต้นทุนพลังงานที่มีหลายฝ่ายมองว่ามีราคาปรับตัวสูงขึ้นนั้น ขอยืนยันว่าต้นทุนการผลิต 70% ที่ใช้แก๊ส ณ วันนี้ เรื่องถ่านหินมีการพัฒนาไปมาก และใช้ทดแทนและทำให้ค่าไฟถูกลง โดยที่จะทำให้ค่าไฟถูกลงนั้นได้นั้น ต้องพัฒนา 2 ด้าน คือ 1. ถ่านหิน 2. พลังงานนิวเคลียร์ ทางกระทรวงพลังงานเริ่้มสร้างความเข้าใจให้พี่น้องประชาชนเห็นว่าถ่านหินไม่เป็นอันตราย และมีจำนวนมากสามารถนำมาใช้เพื่อทดแทนการนำเข้าพลังงานได้ ซึ่งปัจจุบันมีการใช้แก๊สเพิ่มมากขึ้นภายในประเทศ และรัฐบาลได้นำเข้าแก๊สจากประเทศพม่าอีก 25% และนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งวิสัยทัศน์ของกระทรวงพลังงานคือประเทศต้องมีพลังงานที่ยั่งยืนที่เหมาะสมกับประชาชน
     
ส่วนราคาน้ำมันที่หลายฝ่ายมองว่ามีอัตราสูงนั้น นายอารักษ์กล่าวว่า หากเข้าไปดูจากฐานตัวเลขจะเห็นว่าไม่ได้แพงกว่าปีที่แล้ว แต่กลับถูกกว่าปีที่แล้วด้วยซ้ำ หากถ้าเราเตรียมตัวให้พร้อมในการวางระบบโครงสร้างพลังงาน เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งหากชดเชยมากเกินไป อีก 3 ปีอาจเดือดร้อน
     
“คนไทยใช้น้ำมันถูกบ้างแพงบ้าง ก็ต้องดูตามปัจจัยต่างๆ ส่วนเรื่องกองทุนน้ำมันที่ติดลบนั้น จุดประสงค์หลักของกระทรวง เพื่อให้มีพลังงานใช้อย่างยั่งยืน ตอนติดลบ 20,000 ล้านบาท เราก็เอากองทุนเบนซินไปชดเชย LPG, NGV ที่ใช้อยู่ ณ วันนี้หากเปรียบเทียบรายวันเป็นบวกไม่ติดลบ ซึ่งรายวันเป็นบวกถึง 32,000 ล้านบาท ตรงนี้มาจากคนใช้เบนซินจำนวนมากจึงนำมาชดเชยได้
     
ทั้งนี้ กระทรวงเดินหน้าส่งเสริมประชาชนใช้พลังงานทดแทน และดูแลราคาแก๊สหุงต้ม ไม่ให้กระทบต้นทุนราคาอาหารปรุงสำเร็จ ยืนยันการปรับโครงสร้างราคาพลังงานในอีก 2-3 เดือน จะไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน แต่เป็นการใช้ราคาพลังงานอย่างเหมาะสม เป็นธรรม”
     
ช่วงสุดท้ายของรายการ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงถึงโครงการถูกทั้งแผ่นดิน ที่นำสินค้าในสหกรณ์มาจำหน่าย ได้ผลตอบรับดี จนถึงวันนี้ 2 สัปดาห์เต็มมียอดขาย 80 ล้านบาท ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ ขยายไปในระดับอำเภอ นอกจากลดค่าครองชีพแล้ว ผู้บริโภคยังมีทางเลือก สินค้าสหกรณ์ บรรจุภัณฑ์ไม่แตกต่าง เมื่อดูคุณภาพคุณภาพไม่ต้องกังวล มีตัวชี้วัดว่าในร้านที่เปิดขายมีผู้บริโภคมาซื้อมากขึ้น และมีการซื้อซ้ำ
     
ขณะเดียวกันยังให้มีการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน ในระหว่างจังหวัด เป็นบาร์เตอร์เทรดแบบสหกรณ์ เช่น แลกน้ำมันพืชกับข้าวสาร ระบบนี้ทดลองแล้วบางที่ก็ได้ผล แต่ต้องส่งเสริมให้มากขึ้น ตั้งใจนำร่องคลังสินค้าส่งในจังหวัด ซึ่งจะประสานกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพาณิชย์ เชิญโชวห่วยในจังหวัดมาร่วมสมัครในสหกรณ์จำหน่ายสินค้าในราคาสหกรณ์ สมมติร้านโชว์ห่วยซื้อของจากสหกรณ์ไปบวกราคานิดหน่อยก็ยังถูกกว่าท้องตลาด ขณะเดียวกัน ประชาชนก็มีทางเลือกในการบริโภค พี่น้องสหกรณ์สามารถเพิ่มกำลังการผลิต เงินทองก็หมุนเวียนในตลาด ถือเป็นก้าวแรกที่จะทำให้ร้านค้าสหกรณ์ยืนได้ในร้านค้าหรือห้างต่างๆ และทำให้สมาชิกสหกรณ์มีรายได้
     
ส่วนการวัดผล ในเรื่องสหกรณ์เดินไปข้างหน้าเรื่องสินค้า ถ้านำร่องได้ใน 2-3 จังหวัดและได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคก็จะขยายพร้อมๆกันทั่วประเทศ นอกจากนี้จะมีการผลักดันให้มีการประกาศวาระแห่งชาติในเรื่องสหกรณ์ ซึ่งจะประกาศกันในเดือน ก.ค.นี้ หนึ่งในแนวคิดคือเม็ดเงินในสหกรณ์ 1.7 ล้านล้านบาท ส่วนหนึ่งจะปล่อยสินเชื่อให้โครงการของหน่วยงานรัฐ ทำให้สหกรณ์เป็นแหล่งสินเชื่อ ซึ่งจะทำให้สหกรณ์มั่นคงเพราะลูกหนี้เป็นหน่วยงานรัฐ เม็ดเงินก็หมุนอยู่ในนี้ กำลังมอบให้ทีมดูความเป็นไปได้ ข้อกฎหมายถ้าเดินไปจะเดินเรื่องนี้และประกาศเรื่องนี้ออกมาด้วย

SME Bank หนุนผู้ประกอบการ ขานรับนโยบายรัฐบาล ผลักดันครัวไทยสู่ครัวโลก

(25 พฤษภาคม 2555) นายนริศ  ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ และในฐานะประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงนโยบายที่สนับสนุนช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการธุรกิจไทย ในโครงการ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” นโอกาสที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะเดินทางเยือนประเทศออสเตรเลียอย่างเป็นทางการในระหว่างวันที่ 26-29 พฤษภาคมนี้

นายนริศ กล่าวว่า   “ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย มีนโยบายชัดเจนในการสร้างผู้ประกอบการไทยในต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่ทั้งอาหารสด อาหารสำเร็จรูป วัตถุดิบ เครื่องปรุงรส ตลอด จนสนับสนุนธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศให้มีการขยายตัวอย่างมีคุณภาพ เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานอาหารไทยในต่างประเทศ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย จึงให้การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อสนับสนุนโครงการครัวไทยสู่โลก โดยมีเป้าหมายเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งธุรกิจที่ตั้งกิจการในประเทศไทย อันได้แก่ ผู้ผลิต/ผู้แปรรูปอาหาร สินค้า OTOP ตลอดจนผู้รวบรวมสินค้า/ผู้ค้าส่ง-ค้าปลีก และผู้ส่งออกสินค้าประเภทอาหาร/สินค้า OTOP ไปยังร้านค้าและร้านอาหารไทยในต่างประเทศ และให้การสนับสนุนธุรกิจนำเข้าสินค้า ธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก ตลอดจนร้านอาหารไทยที่ตั้งกิจการในต่างประเทศ

ทั้งนี้ ทางธนาคารจะสนับสนุนทางการเงินอย่างครบวงจร โดยแบ่งผู้รับการสนับสนุนออกเป็น 2 แนวทางคือ สนับสนุนผู้ประกอบกิจการในต่างประเทศ ธุรกิจประเภทอาหารและธุรกิจที่เกี่ยวข้องในการนำเข้าสินค้าประเภทอาหาร/สินค้า OTOP หรือบริการที่เกี่ยวข้องจากประเทศไทย เพื่อจำหน่ายหรือกระจายไป ในตลาดต่างประเทศ ทั้งเพื่อการจำหน่าย /ให้บริการแก่ธุรกิจหรือผู้บริโภคทั่วไป และจำหน่ายให้แก่ร้านอาหารไทย ในต่างประเทศ ทั้งธุรกิจในระบบ Franchise และธุรกิจทั่วไป อาทิ อุตสาหกรรมผลิต /แปรรูปสินค้าประเภทอาหารไทย ธุรกิจนำเข้า รวบรวมและกระจายสินค้าสินค้าประเภทอาหารและสินค้า, OTOP, ธุรกิจร้านค้าส่ง-ค้าปลีกประเภทอาหารและสินค้าOTOP, ร้านขายอาหารไทยทั่วไป และร้านอาหารไทยที่เป็น Franchiser/Franchisee, ธุรกิจออกแบบตกแต่งร้านอาหาร ร้านค้าส่ง-ค้าปลีกในต่างประเทศ, ธุรกิจเสริมความเป็นไทยที่ดำเนินการควบคู่ไปกับ ร้านอาหารไทย เช่น สปา นวดแผนไทย ฯลฯ

นอกจากนี้ ทางธนาคารยังสนับสนุนผู้ประกอบกิจการในประเทศไทย อาทิ ธุรกิจประเภทอาหาร ทั้งการผลิต แปรรูป รวบรวม ส่งออก สินค้าหรือบริการตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวข้อง กับการนำสินค้าประเภทอาหาร/สินค้า OTOP ไปจำหน่ายในร้านอาหารไทย/ธุรกิจค้าส่ง-ปลีก ไทยในต่างประเทศ อาทิ ธุรกิจผลิต อาหารสด-แห้ง ผักผลไม้ อาหารแช่แข็ง เครื่องปรุงรส วัตถุดิบ, ธุรกิจแปรรูปอาหารสำเร็จรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป, ธุรกิจรวบรวมและจำหน่าย ธุรกิจส่งออกสินค้าประเภทอาหาร, ผู้ผลิต รวบรวมและผู้ส่งออกสินค้า OTOP ไปยังร้านอาหารไทย หรือร้านค้าส่ง-ปลีกอาหารไทยในต่างประเทศ, ธุรกิจ Franchiser ร้านอาหารในประเทศ ที่ขยายร้านอาหารไทยไปสู่ต่างประเทศ, ธุรกิจออกแบบตกแต่งร้านอาหาร ร้านค้าส่ง-ค้าปลีกอาหารไทยในต่างประเทศ”

นายนริศ กล่าวว่า “ในประเทศออสเตรเลียวันนี้ มีผู้ประกอบการเฉพาะร้านอาหาร ที่เป็นคนไทยถึง 500  ร้านค้า หากแต่ละร้านค้ามีร้านค้าปลีกหรือค้าส่ง ที่สามารถนำเข้าวัตถุดิบอาหารได้จากประเทศไทยโดยตรง  จะเป็นช่องทางที่ดีให้เกษตรกรไทย ผู้ผลิตวัตถุดิบไทยได้ขายสินค้าของตนไปยังประเทศออสเตรเลีย และผู้บริโภคในประเทศเขา จะได้ทานอาหารไทย ที่ปรุงด้วยวัตถุดิบจากประเทศไทย  และได้ลิ้มชิมรสชาดอาหารไทยแท้ๆ ด้วย”

“หากผู้ประกอบการรายใดสนใจ สามารถติดต่อขอรายละเอียดสินเชื่อประเภทต่างๆ ได้ที่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ซึ่งธนาคารเรายินดีอย่างยิ่งที่จะร่วมกันพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้เติบโตก้าวหน้ารองรับนโยบายของรัฐบาลนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายนริศ กล่าว  

สอบถามรายละเอียด เพิ่มเติมได้ที่ 
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) 
475 อาคารสิริภิญโญ ชั้น 9 ถนนศรีอยุธยา ราชเทวี กรุงเทพ 10400  
โทรศัพท์ (0) 2201-3700  โทรสาร : (0) 2207-3723-4 
http://www.smebank.co.th  E-mail address : charkit@smebank.co.th ; si.ayudhaya@smebank.co.th    

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เล็งลุย "ครัวโลก" บุกตลาดออสเตรเลีย

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เปิดเผยในโอกาสที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะเดินทางเยือนประเทศออสเตรเลียอย่างเป็นทางการในระหว่างวันที่ 26-29 พฤษภาคมนี้

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์หนึ่งที่นายกรัฐมนตรีตั้งใจจะนำไปคุยหารือกับนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียคือการนำเสนอโครงการ  “ครัวไทยสู่ครัวโลก” โดยประเทศออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในด้านการสร้างมาตรฐานอาหารปลอดภัย จนได้รับเครื่องหมายรับรอง “อาหารปลอดภัย หรือ ฮาลาล” นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความสนใจต้องการแลกเปลี่ยนความรู้ กฎเกณฑ์สำคัญด้านการผลิตอาหารปลอดภัย เพื่อนำความรู้ดังกล่าวมาผลักดันเกษตกรและผู้ประกอบการไทย ได้เรียนรู้และหันมาผลิตพืชผักรองรับความต้องการ อีกทั้งต้องการเผยแพร่ “อาหารไทย” ผ่านโครงการ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” มุ่งเน้นสร้าง “ผู้ประกอบการอาหารที่ทักษะขั้นสูง” ที่ผ่านการอบรมแล้วจากกระทรวงแรงงาน สามารถไปทำงานในโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหารในประเทศออสเตรเลียได้อย่างมีคุณภาพ ในขณะเดียวกัน ประเทศออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีประชากรผู้มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงอยู่ในละดับต้นๆ ของโลก มีความต้องการบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะ และเน้นพืชผักสมุนไพร  “อาหารไทย” จึงเป็นอาหารตอบโจทย์ความต้องการของชาวออสเตรเลีย 

"ในปี 2555 มีร้านอาหารไทยในประเทศออสเตรเลียประมาณ 500 ร้านค้า เป็นผู้ประกอบการไทยทั้งสิ้น แต่ร้านค้าต่างๆเหล่านี้ กลับประสบปัญหาด้านบุคลากรคนทำงาน เพราะประเทศออสเตรเลียมีกฎเกณฑ์การคัดเลือกบุคลากรทักษะสูง อย่างละเอียด และมีหลักเกณฑ์ด้านวีซ่าที่ค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน เนื่องจากข้อกำหนดด้านภาษา"

"กระทรวงแรงงานจึงได้มีคำสั่งให้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้สร้างหลักสูตรฝึกอบรมผู้ประกอบการอาหารไทย เพื่อฝึกฝนพ่อครัว-แม่ครัว โดยตั้งศูนย์การฝึกอบรมทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดรวมทั้งสิ้น 24 ศูนย์ ทั่วประเทศ  ในปี 2554 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้ประกอบการ และผ่านการอบรมถึง 970 คน  ยังไม่เพียงแค่นั้น กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ยังได้จัดอบรม “ภาษาต่างประเทศ” แก่แรงงานไทยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันมีการสอนภาษาต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 10 ภาษา เช่น ภาษาจีน พม่า กัมพูชา สเปน ญี่ปุ่น เกาหลี อังกฤษ เป็นต้น  เพื่อเป็นการรองรับนโยบายรัฐบาลต่อไป" นายเผดิมชัย กล่าว

เผยประเด็นหารือ ไทย-ออสเตรเลีย เปิดทางแรงงานไทยลุยต่างประเทศ


นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เปิดเผยในโอกาสที่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะเดินทางเยือนประเทศออสเตรเลียอย่างเป็นทางการในระหว่างวันที่ 26-29 พฤษภาคมนี้

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ กล่าวว่า "ประเด็นสำคัญหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีจะหยิบยกขึ้นมาหารือคือ การปรับลดเงื่อนไขการเข้าไปทำงานในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งปกติแล้ว ประเทศออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีแรงงานต่างชาติเข้าไปทำงาน และจะได้รับความคุ้มครองตามกฏหมายแรงงานเท่าเทียมกับแรงงานท้องถิ่นทุกประการ  แต่ออสเตรเลียเน้นการรับแรงงานทักษะฝีมือ ออสเตรเลียมีกฎเกณฑ์และขั้นตอนเกี่ยวกับคนเข้าเมืองและการออกใบอนุญาตทำงานที่เข้มงวดมาก ทางการออสเตรเลียจะออกวีซ่าประเภท “Subclass 457”  ที่ลูกจ้างสามารถทำงานอยู่ได้นานถึง 4 ปี และได้รับสิทธิเทียบเท่าพลเมืองของออสเตรเลียทุกประการ"

"แต่เงื่อนไขของการสมัครวีซ่าประเภทดังกล่าวมีความยุ่งยากมากเช่น การทดสอบภาษาอังกฤษ (IELTS) ระดับ 5 ทุกหมวด ซึ่งมีค่าทดสอบครั้งละ 5,900.- บาท , และต้องผ่านการทดสอบฝีมือแรงงานจาก Trades Recognition Australia (TRA) ซึ่งมีค่าทดสอบฝีมือประมาณ 56,000-95,000.- บาท รวมถึงค่าซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทประกันสุขภาพของประเทศออสเตรเลีย ดังนั้นทำให้มีค่าใช้จ่ายต่อคนเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 200,000.- บาท"

"ด้วยหลักเกณฑ์ดังกล่าวนั้นเป็นหลักเกณฑ์ของรัฐบาลกลางออสเตรเลีย และการกำหนดเกณฑ์การทดสอบภาษาและทดสอบฝีมือแรงงานนั้น ก็เพื่อความปลอดภัยในขณะทำงานของแรงงาน และให้ความมั่นใจว่าแรงงานสามารถดูแลตัวเอง เข้าใจสิทธิของตน และป้องกันการถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง รวมทั้งสามารถพาครอบครัวไปอยู่และทำงานได้ บุตรก็มีสิทธิเข้าเรียน"

"ทางฝ่ายไทยจึงต้องการเจรจาขอให้ทางออสเตรเลียพิจารณาผ่อนผันหลักเกณฑ์หรือลดบททดสอบด้านภาษาลง เนื่องจากเป็นแรงงานด้านภาคการก่อสร้างซึ่งรู้ภาษาอังกฤษน้อยกว่า และอาจจะขอให้กระทรวงแรงงานจัดทำบททดสอบฝีมือแรงงานเพื่อใช้ทดสอบทักษะฝีมือแรงงานแทนการให้ทดสอบกับ TRA ในอัตราค่าใช้จ่ายที่สูง" นายเผดิมชัย กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันแรงงานไทยส่วนใหญ่ เข้าไปทำงานในภาคบริการ เช่น ผู้จัดการร้านอาหาร ผู้ประกอบการนวดแผนโบราณ  ช่างมีฝีมือ อาทิ ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างก่อสร้าง  และมีร้านอาหารไทยโดยผู้ประกอบการคนไทยอยู่ประมาณ 500 คน  และประเทศออสเตรเลียกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้สูงถึง 589.- ดอลล่าออสเตรเลียต่อสัปดาห์ (ประมาณ 19,034.- บาทต่อสัปดาห์) จึงทำให้ประเทศออสเตรเลียเป็นประเทศที่คนไทยมีทักษะฝีมือต้องการเข้าไปทำงานดังกล่าว หากเงื่อนไขต่างๆที่ทางรัฐบาลกลางกำหนด ได้รับการปรับลด หรือผ่อนผันออกไป จะสามารถทำให้คนไทยเดินทางไปทำงานได้เพิ่ม และนำเงินตราส่งกลับมายังครอบครัวให้มีชีวิตที่สุขสบายมากยิ่งขึ้น

วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

นายกฯยิ่งลักษณ์ มั่นใจโครงการ SML เกิดประโยชน์ต่อหมู่บ้าน-ชุมชน




(24 พฤษภาคม 2555 ทำเนียบรัฐบาล) - "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี เปิดโครงการพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านและชุมชน หรือ โครงการเอสเอ็มแอล ระบุรัฐบาลนำโครงการดำเนินการต่อเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน ยอมรับรัฐบาลมองภาพรวมเศรษฐกิจทั้งหมดว่าจะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้สำเร็จ แต่ก็อยากให้หมู่บ้านและชุมชนร่วมแก้ไขปัญหาในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อเงินจากกองทุนนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริงโดยผ่านคณะกรรมการชุมชน ขอให้หมู่บ้านและชุมชนนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางดำเนินการ

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีกดปุ่มโอนเงินให้เข้าบัญชีแก่หมู่บ้าน ชุมชน พร้อมกันทั่วประเทศ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล และมีการสนทนากับผู้แทนประชาชนในพื้นที่ทั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น จันทบุรี และสงขลา จังหวัดละประมาณ 5 นาที สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ มีนายวีระเดช เจริญดี กำนันดีเด่นตำบลสะลวง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมคณะร่วมสนทนาสดกับนายกรัฐมนตรี ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีการถ่ายทอดสดพร้อมกันทั่วประเทศ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการ SML เป็นโครงการที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2548 ได้ทำต่อเนื่องมาและได้มีการหยุดชะงักไประยะหนึ่ง ดังนั้น รัฐบาลได้มีการวิเคราะห์แล้วและเห็นว่า เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงได้ให้ความสำคัญ เพื่อให้ชุมชนมีความเข็มแข็ง สามารถสร้างรายได้ให้ตนเองได้ ซึ่งจะส่งผลให้ภาพรวมของเศรษฐกิจดีขึ้น และเป็นการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่น


สำหรับการจัดสรรงบประมาณ จะคำนึงถึงศักยภาพของชุมชนตาม สำหรับหมู่บ้านขนาดเล็กให้งบประมาณ 3 แสนบาท หมู่บ้านขนาดกลาง 4 แสนบาท และ หมู่บ้านขนาดใหญ่ 5 แสนบาท โดยมีวัตถุประสงค์ ๔ ประการ กล่าวคือ


1. เพื่อให้หมู่บ้านและชุมชนเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย เป็นการส่งเสริม การพัฒนาอาชีพ เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส รวมทั้งเป็นการพัฒนา หรือแก้ไขปัญหาของหมู่บ้านและชุมชน

2. เพื่อส่งเสริมให้หมู่บ้านและชุมชนมีโอกาสและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการหมู่บ้านและชุมชน ด้วยพลังของประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนนั้น ได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไขปัญหา เพื่อความรัก ความสามัคคี และเพิ่มศักยภาพของการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งเป็นการปลูกฝังระบอบประชาธิปไตยที่ยอมรับเสียงส่วนใหญ่ อันเป็นรากฐานสำคัญในการปกครองประเทศ

3. เพื่อให้หมู่บ้านและชุมชนมีโอกาสพัฒนาตามความต้องการของประชาชน เป็นการเสริมการพัฒนาของหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสและสิทธิเสรี ภาวะผู้นำให้แก่ประชาชนในระดับหมู่บ้านและชุมชน และเป็นการเตรียม ความพร้อมของประชาชนในการรองรับการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

4. เพื่อเสริมสร้างและปลูกจิตสำนึกในการบริหารงบประมาณของประชาชน การดำเนินกิจกรรมร่วมกันโดยยึดหลัก การบริหารแบบตรงไปตรงมา โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ มีความรับผิดชอบ และคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม เป็นหลัก