วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

"ยิ่งลักษณ์" เล็งเพิ่มศักยภาพสตรี เสริมเศรษฐกิจไทยมั่นคง

8 กันายน 2555 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและสถานีโทรทัศน์ช่องเอ็นบีที โดยระบุว่า รัฐบาลเชื่อว่าการเพิ่มศักยภาพสตรีจะเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยให้มั่นคงและแข็งแรง โดยมีเนื้อความดังนี้

ภาพ "รายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน" ขณะออกอากาศผ่านทาง NBT
พิธีกร : เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เห็นการประชุมครั้งแรกของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กองทุนนี้อย่างไรมีความคืบหน้าบ้างครับท่านนายกฯ

นายกรัฐมนตรี : เมื่อวันพุธที่ 5 กันยายน ได้มีการประชุมเรียกว่าคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติเป็นครั้งแรก ซึ่งกรรมการนี้ได้ประกอบไปด้วยคณะกรรมการทั้งหมด 37 ท่าน ซึ่งจะเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 17 ท่าน และบวกกรรมการเรียกว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการที่มาจากพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย 20 ท่าน รวมเป็น 37 ท่านมาประชุมเป็นครั้งแรก

พิธีกร :  ครับ ซึ่งถ้าเกิดเราดูเฉพาะบทบาทผู้หญิงในประเทศไทยในปัจจุบันนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ ประชาชนประชากรเป็นอย่างไร

นายกรัฐมนตรี : จริง ๆ ต้องบอกว่าที่มาของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีนี้มาจากว่า สิ่งที่เราเห็นวันนี้จำนวนสตรีไทยมีประมาณ 32,550,000 คนทั่วประเทศ ถือว่าเป็นสัดส่วนมากกว่าผู้ชายเล็กน้อยหรือว่าครึ่ง ๆ แล้วก็สิ่งที่เราเห็นคือว่าผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นนะค่ะคุณธีรัตถ์ ก็อยู่ประมาณร้อยละ 45 ถือว่าเป็นผู้หญิงที่มีความสามารถและเป็นถึงระดับผู้บริหาร

พิธีกร : เห็นว่าผู้หญิงไทยได้รับความยอมรับจากฟอร์บส์ จากหลาย ๆ ประเทศว่า เป็นประเทศผู้หญิงในระดับ CEO มากที่สุดของโลกอีกด้วย

นายกรัฐมนตรี : ใช่ค่ะ เป็นที่น่าภาคภูมิใจว่าประเทศไทยก็มีผู้หญิงมากและเก่ง และมีศักยภาพในความเป็นผู้นำ แต่อย่างไรก็ตามเราก็จะเห็นว่าในร้อยละ 55 ยังมีสตรีอีกหลายกลุ่ม ภายใต้กลุ่มนี้ยังมีสตรีที่มีความต้องการในการที่จะพัฒนาหรือว่าโอกาสในการที่จะเพิ่มศักยภาพอีกถ้าเรามาร่วมกันในการพัฒนาศักยภาพของสตรีในหลาย ๆ กลุ่มนี้ก็จะทำให้เชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยให้มั่นคงและแข็งแรง จึงเป็นที่มาของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ได้มีการตั้งขึ้นตามเจตนารมณ์ที่รัฐบาลได้มีการแถลงนโยบายไว้ถือว่าเป็นนโยบายเร่งด่วนค่ะ

พิธีกร : ถือว่าเป็นจุดประสงค์ที่ต้องการเห็นความเสมอภาคของผู้หญิงและผู้ชายในสังคม ผู้หญิงมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนเข้าถึงการร่วมกลุ่มกันในการที่จะสร้างโอกาสให้กับตนเองและอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

นายกรัฐมนตรี : อย่างแรกเราคาดหวังว่าอยากเสริมสร้างให้สังคมไทย โดยเฉพาะสตรีไทยให้มีความเสมอภาคและจากนั้นจากความเสมอภาคแล้วเราก็สามารถที่จะต่อยอดในการพัฒนาสตรีให้มีบทบาทในสังคมหรือทางด้านของคุณภาพชีวิตที่ดีมีคุณภาพที่ดีขึ้น เราก็ได้นำเอาแผนพัฒนาสตรีแห่งชาติฉบับที่ 11 ซึ่งทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้นำเสนอผ่านคณะรัฐมนตรีไปแล้ว คือเป็นแผนพัฒนาสตรีแห่งชาติที่ครอบคลุมสตรีทั้งประเทศ เรียกว่าสิ่งที่เราเอามาเป็นโครงหลักแต่ในส่วนของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเราจะเน้นเพิ่มเติมในส่วนของการต่อยอดของกลุ่มสตรีที่ต้องการที่จะดูแลใน 3 ประการด้วยกัน อย่างแรกคือ กองทุนนี้จะเป็นกองทุนที่เรียกว่าแหล่งทุนของดอกเบี้ยต่ำในการที่จะสร้างอาชีพให้กับกลุ่มสตรีที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงสตรีผู้ที่ขาดโอกาส และความเสมอภาค และในการรับโอกาสในการช่วยเหลือต่าง ๆ กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่เป็นสตรีที่มีบทบาทเป็นผู้นำอยู่แล้วเราจะทำอย่างไรให้เสริมสร้างสตรีกลุ่มนี้ได้มีโอกาสในการแสดงออก และอยู่บนเวทีโลกได้มากขึ้น ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นสิ่งที่เราได้เตรียมตัวคือการก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนด้วยเช่นกัน รวมถึงการที่กองทุนที่จะบูรณาการกับทุกมูลนิธิหรือทุกหน่วยองค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับสตรีอย่างไรให้เกิดศักยภาพและเสริมสร้างกัน ถ้าถามว่าวิสัยทัศน์หรือเป้าหมายที่เราต้องการคือว่า เราอยากเห็นเรื่องของการรวมพลังในการสร้างสรรค์พลังสตรีเพราะถือว่าพลังสตรีนั้นเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศเช่นกัน

พิธีกร : คือว่าเป็นการเพิ่มศักยภาพและโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับสตรีด้วย ซึ่งอย่างที่ท่านนายกฯ กล่าวตั้งแต่ตอนต้น แม้ว่าสตรีไทยจะเป็นผู้นำธุรกิจมากแต่ก็มีอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกละเลยในสังคม เฉพาะฉะนั้นบทบาทของกองทุนนี้ก็จะทำให้สตรีเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ ในการสร้างอาชีพ มีการรวมกลุ่มกันพัฒนา หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดจากสตรีเหล่านี้ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมได้อย่างไร

นายกรัฐมนตรี : เราจะมีทั้งรูปแบบของการที่เรียกว่าให้สตรี โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ในชุมชนที่ต้องการที่จะสร้างอาชีพหรือรายได้ สร้างงานเกิดขึ้นมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนในลักษณะทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำ หรืออาจจะเป็นทุนอุดหนุนซึ่งต้องแล้วแต่คณะกรรมการในจังหวัดที่จะนำพิจารณาว่าโครงการไหนที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน แต่สำหรับบทบาทของคณะกรรมการพัฒนากองทุนพัฒนาสตรีแห่งชาตินี้ก็จะช่วยในการวางยุทธศาสตร์ภาพรวมและกิจกรรมในการขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อประโยชน์ของสตรีใน 4 เรื่องด้วยกัน ยุทธศาสตร์แรกคือ ยุทธศาสตร์ในการที่ทำอย่างไรในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับสตรี อันที่ 2 คือ ยุทธศาสตร์ในการที่จะเพิ่มคุณภาพชีวิตของสตรีผู้ที่ต้องการโอกาส หรือต้องการได้รับความเป็นธรรมและความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน กลุ่มที่ 3 คือ การพัฒนาศักยภาพของผู้นำสตรีให้ก้าวจากเวทีชุมชนไปเป็นระดับประเทศ และรวมไปถึงระดับชาติ ที่จะเป็นความภูมิใจของคนไทยและสังคมไทยต่อไป สุดท้ายคือการรวมกันในการพัฒนาศักยภาพร่วมกับกองทุนหรือองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสตรีค่ะ

พิธีกร : ได้ยินกองทุนนี้มาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาขณะนี้โครงการนี้มีสมาชิกกี่คน และเริ่มมีการดำเนินการอย่างไรบ้าง

นายกรัฐมนตรี : ตั้งแต่เริ่มประชาสัมพันธ์ไปให้ทางด้านของการรับรู้เรื่องของงานและภาระกิจของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ขณะวันนี้เรามีจำนวนสมาชิกปัจจุบันที่เข้าชื่อมาเพื่อที่จะช่วยกันร่วมในการทำงานกรรมการด้วยประมาณ 8 ล้านคน ไม่ได้หมายความว่าสมาชิกที่ไม่ได้สมัครจะไม่ได้รับสิทธิ์ในส่วนของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี

พิธีกร : สมัครได้เรื่อย ๆ

นายกรัฐมนตรี : สมัครได้เรื่อย ๆ และจำนวนการรับสิทธิ์คือจะรับสิทธิ์ได้จะเป็นสมาชิกหรือไม่เป็นสมาชิกก็ตาม สามารถที่จะปรึกษาและขอในการรับสิทธิ์ต่าง ๆ ได้ในจังหวัด

พิธีกร : มีส่วนร่วมในโครงการได้ เพราะฉะนั้นต้องพูดคุยกันว่าในแต่ละจังหวัดมีการดำเนินการอย่างไรและสามารถที่จะดูว่าโครงการของแต่ละท่านจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง

นายกรัฐมนตรี : แต่การเป็นสมาชิกจะทำให้เราได้เข้าใจความต้องการของสมาชิกได้ดีขึ้นและการติดต่อสื่อสารอาจจะเป็นไปในในทางตรงมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามท่านอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเราคงต้องใช้สื่ออื่น ๆ ในการประชาสัมพันธ์เพื่อที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งวันนี้ในส่วนของจังหวัดเราได้มีการคัดเลือกคณะกรรมการในระดับจังหวัดแล้ว มีคนทำงานแล้วแต่อยู่ในขั้นตอนอีกขั้นตอนหนึ่งคือขั้นตอนของการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของจังหวัด เมื่อแต่งตั้งทั้งหมดแล้วคณะกรรมการสามารถที่จะคับเคลื่อนตามวงเงินที่รัฐบาลได้มีการโอนเงินไว้อยู่ที่จังหวัด


พิธีกร : มีการกำหนดไหมว่าแต่ละจังหวัดจะโอนเงินเท่าไร อย่างไร

นายกรัฐมนตรี : ภาพรวมเราโอนไป ณ วันนี้ทุกจังหวัดประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งในเบื้องต้นในส่วนของจังหวัดเองก็คงจะไปวางในเรื่องของวิธีการและขั้นตอนต่าง ๆ ในการทำงานทั้งหมดและมีแผนการใช้งานซึ่งในจังหวัดไหนมีการใช้งบประมาณหมดแล้ว เราสามารถที่จะติดต่อในส่วนของคณะกรรมการที่จะโอนเงินไปเพิ่ม ซึ่งเฉลี่ยจังหวัดละ 100 ล้านบาท

พิธีกร : การดำเนินของโครงการถือว่ามีการดำเนินการไปบางส่วนแล้ว ซึ่งคนที่มากำหนดทิศทางหรือว่าโครงการต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นสตรีด้วยกันทั้งสิ้น ส่วนใหญ่

นายกรัฐมนตรี : เป็นสตรีส่วนใหญ่แต่ก็มีสุภาพบุรุษที่ทำงานเพื่อสตรีมาได้ คณะกรรมการแห่งชาติได้มีตั้งคณะอนุกรรมการทั้งหมด 5 คณะ เพื่อที่จะเข้าไปทำการจัดกิจกรรมโดยการระดมความคิดและการมีส่วนในการร่างเนื้อหาในกรอบยุทธศาสตร์ใหญ่ และรวมถึงแผนกิจกรรมเพื่อให้แน่ใจว่าคณะกรรมการนี้หรือกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีได้มีการเข้าถึงและการที่ได้รับฟังปัญหาและการมีส่วนร่วมทั้งภาคประชาชน หน่วยงาน หรือองค์กรต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับเรื่องสตรีทั้งหมด

พิธีกร : คือเป็นการดูแลว่ากิจกรรมที่จะเกิดขึ้น โครงการ ยุทธศาสตร์ ในการขับเคลื่อนต่อไปนั้นเป็นอย่างไร

นายกรัฐมนตรี : และในอนาคตก็จะรวมถึงในเรื่องของกฎระเบียบต่าง ๆ ปัญหา อุปสรรค หรือข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อสิทธิและเสรีภาพอย่างเท่าเทียบกัน

พิธีกร : ท่านนายกฯ ได้กล่าวว่าสมาชิกกองทุนมีมากกว่า 8 ล้านคน ถ้าลงไปดูในรายละเอียดกลุ่มคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกเป็นอย่างไรกันบ้าง

สมาชิกกองทุนฯสตรี ต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพมากที่สุด
นายกรัฐมนตรี : เรียนว่าตรงกับสิ่งที่เราได้สำรวจมาเบื้องต้นว่าจำนวนสมาชิกในกลุ่ม 8 ล้านคน มีความหลากหลายในระดับภูมิภาค อายุ การศึกษา อาชีพต่าง ๆ สิ่งที่เราพบคือว่าร้อยละ 61 มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาท แปลว่ากองทุนนี้สามารถที่จะตอบโจทย์ว่าที่จะต้องการที่จะสร้างรายได้คุณภาพชีวิตเรื่องของการมีอาชีพมีรายได้เข้ามาในครอบครัว แต่ในกลุ่มนี้ประมาณ 67% พูดตรงกันว่ารายได้ที่ต่ำกว่า 5,000 บาท ไม่เพียงพอในการดำรงชีพ

พิธีกร : กองทุนฯ จะมาตอบโจทย์ตรงนี้ ถ้ามีการรวมตัวกัน มีการคิดโครงการก็สามารถจะสร้างรายได้ให้กลุ่มสตรีกว่า 60%

นายกรัฐมนตรี : สร้างรายได้นั้นก็แปลว่าสร้างเศรษฐกิจในครอบครัวและในชุมชนให้แข็งแรง

พิธีกร : และเศรษฐกิจที่เป็นฐานรากจะหมุนเวียนต่อได้ด้วย และปัญหาหรือสิ่งที่เขาอยากได้รับการช่วยเหลือมากที่สุดในช่วงนี้ ที่เราเป็นสมาชิกของกองทุนฯ คืออะไร

นายกรัฐมนตรี : ปัญหาเรื่องแรกคือเรื่องของรายได้ไม่เพียงพอ ประการที่ 2 คือเรื่องสุขภาพ ซึ่งกลายเป็นว่ากลุ่มนี้ เพราะจริง ๆ เราจะเข้าสู่สังคมที่เรียกว่าสังคมผู้สูงอายุ อันนี้เป็นปัญหาสุขภาพก็สะท้อนอยู่ในกลุ่มของกองทุนสมาชิกพัฒนาบทบาทสตรีนี้ สุดท้ายคือเรื่องการที่มีความต้องการทางด้านของโอกาสทางด้านของการศึกษา อาชีพ คือการที่ผู้ที่ขาดโอกาสมีอยู่ร้อยละ 16%

พิธีกร :  เพราะฉะนั้นเท่ากับว่ากองทุนฯนี้เกิดขึ้นอย่างกรรมการขับเคลื่อนมีบทบาทมากขึ้น คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาเรียบร้อยแล้ว การขับเคลื่อนโดยกลุ่มสตรีในชุมชนจะเดินหน้าไปรวมทั้งด้านมีปัญหาทางด้านรายได้ สุขภาพ การศึกษา จะมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนและมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีมากขึ้น

นายกรัฐมนตรี : โดยหลักเราอยากให้กองทุนนี้เป็นของสตรีทุกคนและเป็นกองทุนฯที่สตรีด้วยกันหรือผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสตรีได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจและรัฐบาลพร้อมในการที่จะอาศัยกองทุนฯ นี้ บูรณาการทุกกระทรวงที่ทำงานเกี่ยวกับสตรีในการที่จะผลักดันเพื่อให้สตรีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมีสุขภาพที่ดีและมีสิทธิเสรีภาพ และมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน

พิธีกร : ขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีมาก ท่านผู้ชมได้รับทราบแล้วว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคใต้นั้นรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไข ไม่มีสูตรสำเร็จใด ๆ ในการแก้ไขปัญหาได้ ท่านนายกฯได้มีการลงพื้นที่ และช่วยกันในการดูแลความต้องการของคนในพื้นที่ว่าขาดอะไรบ้างและเสริมอะไรบ้างเพื่อจะทำให้การใช้ชีวิตของพื้นที่นั้นอยู่ได้อย่างมีความสุข นอกจากนี้ยังมีการให้โอกาสกับสตรีของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เพื่อที่จะทำให้หญิงไทยนั้นมีความเท่าเทียมกันทางด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อไป ช่วงนี้พักคนสักครู่ ช่วงหน้าติดตามการทดสอบการระบายว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง


1 ความคิดเห็น: