กระทรวงศึกษาธิการลงพื้นที่ภาคตะวันออก เดินหน้าติดตามความคืบหน้าการจัดส่งแท๊บเล็ตให้นักเรียน
วันนี้ (16 สิงหาคม) ดร. ชินภัทร ภูมิรัตน์ เลขาธิการสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการจัดส่งแท๊บเล็ต ปัจจุบันทางสพฐ. ได้จัดส่งแท๊ปเล็ตจำนวนทั้งสิ้น 129,632 เครื่อง 20 จังหวัดทั่วประเทศ จากยอดรวมในการจัดส่งทั้งหมดกว่า 800,000 เครื่อง และคาดว่าจะจัดส่งแล้วเสร็จภายในปี 2555 และจัดการอบรมให้แก่วิทยากรศึกษานิเทศก์ครบแล้วทั้ง 183 เขต วิทยากรดังกล่าวจะสามารถขยายผลไปสู่ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ ผู้อำนวยการสถานศึกษา และครูผู้สอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้ เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับ นโยบาย 1 แท๊บเล็ต ต่อ 1 นักเรียน ป. 1 เป็น 1 ในนโยบายสำคัญของรัฐบาลมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม โอกาส การเข้าถึง และยกระดับคุณภาพการศึกษาของเยาวชนโดยกระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. ได้จัดให้มีการพัฒนาสื่อการ สอนในแท็บเล็ตพีซี เพื่อกระตุ้นให้เด็ก ป. 1 ทุกคนมีความสามารถในการอ่าน รักและสนใจการอ่านมากขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาการศึกษาขององค์การยูเนสโกที่ต้องการริเริ่มแก้ไข ปัญหาการอ่านออกเขียนได้ และ การขาดแคลนครู
ทั้งนี้ สพฐ. จะนำข้อมูลการทำแบบฝึกหัดของนักเรียนแต่ละคนมาวิเคราะห์เพื่อใช้ในการพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้ของนักเรียนและครู ป.1ต่อไป แผนการสอนจะถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อให้คุณครูสามารถสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ครู ผู้ปกครอง เข้าใจนักเรียนและบุตรหลานของตนมากขึ้น
นอกจากนั้น สพฐ. ยังได้จัดให้มีการศึกษาเพิ่มเติมสำหรับแนวทางแก้ไขข้อกังวลในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนี้ อาทิ ด้านการพัฒนาสมอง หรือ โรคสมาธิสั้น ด้วยการออกแบบสื่อแท็บเล็ตให้คุณครูสามารถช่วยเสริมให้มีการพัฒนาการทางสมองของนักเรียนมากขึ้น โดยการใช้แท๊บเล็ตในระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งรัฐบาลเล็งเห็นว่าเด็กนักเรียนคือทรัพยากรมนุษย์ของชาติ เมื่อได้รับการพัฒนาทางด้านการศึกษาจะสามารถสร้างผลตอบแทนเชิงเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนให้แก่ประเทศ อัตราการพัฒนาประเทศจะเพิ่มขึ้นเพียงไร ขึ้นอยู่กับอัตราการพัฒนาการศึกษาของรัฐบาลนั้นๆ
พร้อมกันนี้ในวันเดียวกันนี้ กระทรวงศึกษาธิการโดย สพฐ. ยังได้จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “แท็บเล็ต ลดช่องว่างทางสังคมอย่างไร” โดยผู้ร่วมเสวนาคือ ดร. สุชิน เพ็ชรักษ์ นักวิชาการด้านการศึกษาตามอัธยาศัยภาคเหนือ (ทวิภาษา) และดร. ซินเทีย หม่อง ผู้อำนวยการ ศูนย์พัฒนาการเรียนรู้เพื่อเด็กด้อยโอกาส Children Development Center มาร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องสิทธิเด็ก ณ โรงเรียนบ้านวังใหญ่ อ. ไทรโยก จ. กาญจนบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ชายแดนไทย - พม่า จังหวัดกาญจนบุรี เป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนไทย พม่า และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม สอดคล้องกับทิศทางขององค์การยูนิเซฟที่ส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันทางการศึกษา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น