วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555

นายกฯยิ่งลักษณ์ เปิดนิทรรศการน้ำ เผยแผนป้องกันอุทกภัย

เมื่อเวลา 09.00น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด นิทรรศการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้ชื่อนิทรรศการว่า “มุ่งมั่นทำงาน บริหารจัดการน้ำเพื่อประชาชน” ซึ่งเป็นรอบของสื่อมวลชน ที่ห้องบางกอกคอนเวนชัน ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว โดยมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง บุคคลในรัฐบาล คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชนเข้าร่วมงานจำนวนมาก จะมีการจัดแสดงนิทรรศการไปถึงวันที่ 2 ก.ย.นี้

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวเปิดนิทรรศการตอนหนึ่งว่า ในนามของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอต้อนรับเพื่อชมนิทรรศการฯ ซึ่งการจัดงานวันนี้เพื่อบรรยายถึงแผนการริหารจัดการและการเตรียมความพร้อมในปีนี้ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาก็คงทราบว่าวิกฤติอุทกภัยปีที่ผ่านมาที่มีความร่วมมือร่วมใจกันทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนและสื่อมวลชน ที่รวมพลังกันทำให้ผ่านพ้นในปีที่ผ่านมา เราก็นำประสบการณ์มาปรับปรุงแก้ไขและเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติทั้งระยะสั้นในปีนี้และการเตรียมแผนระยะยาว โดยคำนึงถึงสภาพความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนต่างๆเพื่อมุ่งมั่นพัฒนาปรับปรุงระบบบริหารจัดการน้ำและการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพและเอกภาพ

"รัฐบาลน้อมนำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการเป็นหลักในการทำงาน และทำให้เข้าใจธรรมชาติของน้ำ เพราะน้ำต้องมีที่ไป น้ำต้องมีที่อยู่ น้ำยังต้องมีที่ชะลอ ดังนั้นต้องทำให้น้ำมีทางออกและระบาย และสำคัญประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนต้องได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

จากนั้นนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแผนการจัดการน้ำว่า แบ่งเป็น 4 ส่วน คือ การป้องกัน การเตรียมพร้อม การรับมือ และการฟื้นฟู โดยในส่วนของการป้องกันนั้นแบ่งตามพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ โดยต้นน้ำจะเน้นทำอย่างไรให้ชะลอการไหลของน้ำโดยการปลูกป่า สร้างฝายชะลอน้ำและปลูกหญ้าแฝก กลางน้ำก็จะบริหารน้ำในเขื่อนให้เหมาะสม รวมทั้งแก้ภัยแล้งด้วย โดยการรักษาระดับน้ำในเขื่อน ร้อยละ 50 และเตรียมพื้นที่รับน้ำนอง 2.1 ล้านไร่ และซ่อมแซมประตูระบายน้ำ และปลายน้ำจะเน้นการขุดลอกเพื่อให้น้ำไหลลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุดทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก เสริมถนน เสริมแนวคันกั้นน้ำจากหนึ่งชั้นเป็นสามขั้นเพื่อปกป้องพื้นที่ต่างๆ ที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและนิคมอุตสาหกรรม และแน่นอนจะไม่ลืมเพิ่มเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ที่เกิดน้ำนองในปีที่ผ่านมาด้วย

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า ส่วนขั้นการเตรียมพร้อมมีการบูรณาการโดยมีการทำคลังข้อมูลแห่งชาติ ร่วมกับ 17 หน่วยงานเข้ามาในศูนย์เดียวกัน เพื่อประเมินและวิเคราะห์เป็นการสั่งการเดียวหรือซิงเกิลคอมมานด์ มีการทำแบบจำลอง การสั่งการ การจัดการ การเตือนภัยทั้งภาวะปกติและวิกฤติ ที่มีขั้นตอนต่างๆตามลำดับ มีผู้รับผิดชอบชัดเจนลงไปในชุมชุนทุกที่ส่วนการรับมือนั้นเมื่อเกิดอุทกภัยทุกระดับความรุนแร ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้บริหารที่รับผิดชอบจะบูรณาการอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อพร้อมในการเผชิญเหตุ และสุดท้ายการฟื้นฟูก็มีหลักเกณฑ์ สิทธิการช่วยเหลือเหลือผู้ประสบภัยทุกด้าน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาวได้ออกพระราชกำหนดฯกู้เงิน ในวงเงิน 3.5 แสนบ้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ มากำหนดแผนฯเรียบร้อยแล้ว และอยู่ในช่วงของการเชิญชวนผู้สนใจยื่นคุณสมบัติในการยื่นแนวคิดที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยและจะมีการคัดเลือกโดยเป็นธรรมและโปร่งใส เป็นไปตามกฎหมายโดยคำนึงประโยชน์ของประเทศ

“การจัดงานครั้งนี้รัฐบาลหวังว่าข้อมูลที่นำมาจะทำให้ทราบข้อเท็จจริงและเข้าใจความมุ่งมั่นในแผนบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขน้ำอุทกภัย เพื่อความรู้ความเข้าใจร่วมกัน โดยมีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมานำเสนอและอธิบายในนิทรรศการเพื่อเข้าใจครบถ้วนทุกประเด็น ทั้งนี้ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่มาร่วมกันปรับปรุงข้อมูลการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ในการนำประสบการณ์มาเป็นแผนการเพื่อรองรับภัยธรรมชาติปีนี้และยืนยันว่ารัฐบาลมุ่งนั่นในทำงานร่วมกัน” น.ส.ยิ่งลักษณ์  กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นนายกรัฐมนตรี ได้นำสื่อมวลชนเข้าชมนิทรรศการตามจุดต่างๆที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยบรรยายในแต่ละจุด ได้แก่ นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ในฐานะกรรมการ กยน. นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะรักษาการเลขาธิการ สบอช. และนายวิบูลย์ สงวนพงษ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ชมภาพถ่ายเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.442134049158711.96274.420362718002511

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น