วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555

รัฐบาลยันเร่งปราบยาเสพติด และพร้อมรับมือวิกฤตการเงินยุโรป

นายกฯ งดจัดรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน มอบหมายรองนายกฯ แจงเรื่องยาเสพติด และรับมือวิกฤตการเงินยุโรป




นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีงดออกรายการ รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน โดยมอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลงานด้านยาเสพติด พร้อมด้วย พล.ต.อ.เพรียวพันธุ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รอง ผบ.ตร. ร่วมรายการแทนโดยเป็นการติดตามความคืบหน้าเรื่องยาเสพติด

ทั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ยืนยันรัฐบาลเร่งแก้ปัญหายาเสพติด ซึ่งตลอด 10 เดือนที่ผ่านมาเร่งทำงานในเชิงรุก และตั้งเป้าลดกลุ่มเสี่ยง ลดความต้องการยาเสพติด ซึ่งหากทำได้ปัญหาการค้ายาเสพติดก็จะลดลง โดยในปีหน้าจะรุกหนักเพื่อให้เกิดชุมชนสีขาว ตำบลสีขาว อำเภอสีขาว จังหวัดสีขาว และประเทศสีขาว ให้เกิดขึ้น

นอกจากนี้ตนกำลังทำกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ผู้เสพยาหากเต็มใจต้องการบำบัดรักษาตจะไม่ต้องรับโทษ ขณะที่ผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ที่ถูกจับกุมได้ ต้องได้รับโทษประหารชีวิต โดยไม่มีการลดโทษ เพราะบางกรณีสุดท้ายก็ไม่ถูกประหารชีวิตและยังสร้างเครือข่ายต่อไป และขณะนี้ยังได้มีการตั้งกองบังคับการสกัดกั้นยาเสพติดขึ้น เพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานของกองบังคับการตำรวจภูธรภาคต่างๆ หากมีการจับกุมผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่และต้องมีการติดตามไล่ล่าตัวผู้ค้า

อย่างไรก็ตามหน้าที่หลักเป็นหน้าที่ของตำรวจภูธรในการปราบปรามยาเสพติด ขณะที่ ผบ.ตร.ยืนยันว่าเส้นทางค้ายาเสพติดยังเป็นพื้นที่ตะเข็บชายแดน โดยเฉพาะในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ซึ่งยังคงต้องเข้มข้นในจุดนี้

นอกจากนี้ในรายการ รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ยังได้มีการชี้แจงถึงความพร้อมในการรับมือกับวิกฤตทางการเงินของยุโรปด้วย โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย และนายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยยืนยันว่ารัฐบาลไทยมีความพร้อมในเรื่องความเข้มแข็งของประเทศทั้งความเข้มแข็งของสกุลเงิน และการค้าขายที่ยังเกินดุล ท่ามกลางราคาพลังงานโลกที่อ่อนตัวลงจึงทำให้เกิดความแข็งแรงมากขึ้น ในขณะที่หนี้สาธารณของประเทศอยู่ในระดับที่ต่ำมากในเวลานี้จึงถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยตั้งเป้าการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 15 และจีดีพีร้อยละ 7 ซึ่งสามารถรับมือในเรื่องนี้ได้

ยิ่งลักษณ์ เปิดงาน “มหกรรมพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดเพื่อแม่ของแผ่นดิน”

พระนครศรีอยุธยา 29 มิ.ย.- ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 15.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปยังโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเปิดโครงการ “มหกรรมพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดเพื่อแม่ของแผ่นดิน” โดยมีนักเรียน เยาวชน และอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ประมาณ 4,000 คน รอให้การต้อนรับ

นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดโครงการตอนหนึ่งว่า "ยาเสพติดไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของคนทั้งประเทศที่ต้องช่วยกันแก้ปัญหา ทั้งการป้องกัน บำบัด และปราบปรามไม่ให้ยาเสพติด เป็นปัญหาของประเทศอีกต่อไป ซึ่งในปีนี้เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถครบ 80 พรรรษา ถือเป็นปีที่ทุกคนนอกจากจะช่วยกันแก้ปัญหายาเสพติดแล้ว ยังเป็นการถวายความจงรักภักดี ที่พระองค์ท่านเคยมีพระราชดำริในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนอย่ายุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งทางตรง และทางอ้อม และให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการขจัดสิ้นยาเสพติดให้หมดไป"

จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เดินทักทายประชาชนที่มาร่วมงาน และชมนิทรรศการ โดยเฉพาะการแสดงของช้าง 4 เชือก ที่แสดงการเหยียบทำลายยาเสพติดซองบุหรี่ยี่ห้อหนึ่ง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ไม่ยุ่งเกี่ยวยาเสพติดอย่างสิ้นเชิง









วาระงานทำเนียบรัฐบาล ประจำวันที่ 30 มิถุนายน 2555


วาระงานทำเนียบรัฐบาลประจำวันที่ 30 มิถุนายน 2555 

เวลา 08.00 น. รายการ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน" ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยและสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย

เวลา 09.00 น. นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการส่งออกเพื่อผลักดันการส่งออกให้มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 15 (ปี 2555) ณ ห้องเวิลด์ บอลรูม บี ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัล เวิลด์ กรุงเทพฯ

เวลา 18.20 น. พิธีรับเสด็จฯ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
- นายกรัฐมนตรี หารือข้อราชการกับสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม

เวลา 19.00 น. นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแด่สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล

หมายเหตุ
สมเด็จพระราชาธิบดี ฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ แห่งบรูไนดารุสซาลาม เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) โดยมีกำหนดการเสด็จฯ ณ ทำเนียบรัฐบาล ในวันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน 2555 

วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วาระงาน ทำเนียบรัฐบาล ประจำวันที่ 28 มิถุนายน 2555

วาระงาน ทำเนียบรัฐบาล ประจำวันที่ 28 มิถุนายน 2555

เวลา 09.30 น. นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการจัดงานวันคล้ายวันสถาปนาสำนักนายกรัฐมนตรี ครบรอบปีที่ 80 ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล (พิธีสงฆ์)

เวลา 10.00 น. รองนายกรัฐมนตรี (นายชุมพล ศิลปอาชา) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานสนับสนุนกีฬาจากภาคราชการ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

เวลา 10.30 น. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล) เป็นประธานการประชุมการบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ณ ห้องประชุม 302 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

เวลา 10.45 น. นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาสำนักนายกรัฐมนตรี ครบรอบปีที่ 80 ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล

เวลา 14.00 น. นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานและกล่าวถวายราชสดุดีและมอบชุดเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกและเหรียญที่ระลึกสำคัญในโอกาสต่างๆ "เงินตราคู่แผ่นดิน นวมินทร์องค์ราชันย์" ณ ห้องยูงทอง 1 สมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 กรุงเทพฯ

วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

'จารุพงศ์-ชัชชาติ'แจงแผนลดต้นทุนลอจิสติกส์ เหลือ 13%ของจีดีพี


(23 มิถุนายน 2555) - นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง คมนาคม และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน เกี่ยวกับการลดต้นทุนด้านลอจิสติกส์ โดยมีนายธีรัตถ์ รัตนเสวี ดำเนินรายการ
       
นายชัชชาติ กล่าวถึง การลดต้นทุนลอจิสติกส์ เป็นตัวสำคัญของการประกอบธุรกิจ กรณีของไทยต้นทุนอยู่ที่ 15.2%ของจีดีพี ของอเมริกา 8.3% ของเราก็พยายามจะลดให้ได้เหลือ 13.2% ของจีดีพี เพื่อให้สามารถแข่งขันได้มากขึ้น ลดต้นทุน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของชาติที่พยายามจะลดตรงนี้ให้ได้
       
นายจารุพงศ์ กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน ระบบการขนส่งของบ้านเรามี 4 ระบบ แต่สัดส่วน 86% ไปทางรถยนต์ ส่วน 12 % ทางน้ำ ส่วนที่เหลือทางรางและอากาศ วันนี้การขนส่งทางน้ำคิดต้นทุนต่อตันต่อกิโลถูกที่สุด รองลงมาทางราง และ สุดท้ายคือทางอากาศ จะดำเนินการเพิ่มการขนส่งทางน้ำจะเพิ่มจาก 12% เป็น 14% ก็เพื่อลดสัดส่วนทางบกลง ซึ่งการที่นายกฯไปแหลมฉบัง เพราะมีจำนวนการขนส่ง 52% ของทั้งหมด ถ้าแก้เรื่องคอขวดก็จะร่นระยะเวลาขนส่งและลดต้นทุนด้านลอจิสติกส์
       
รมว.คมนาคม ยังได้กล่าวถึง ศักยภาพของท่าเรือแหลมฉบัง ขณะนี้ขีดความสามารถขนส่ง 5.8 ล้านตู้ต่อปี ปี 2562 คิดว่าจะขึ้นเป็น 10.6-10.8 ล้านตู้ต่อปี ก็ยังเหลือเวลาที่จะแก้ปัญหา 6-7 ปี ก็จะทำรางที่จะขนขึ้นขนลงเพื่อให้ปัญหาคอขวดต่างๆลดลง นอกจากนี้ที่ท่าเทียบเรือเฟส 1 ท่าเอ ยังปรับปรุงไม่หมด ไม่ค่อยมีท่าเรือในประเทศที่เข้ามาสวมต่อก็จะสร้างประสิทธิภาพท่าเอให้การขนส่งทางน้ำเข้ามาสู่ที่นี่ได้เร็วขึ้น นอกจากนั้นก็จะศึกษาเฟสที่ 3 ที่จะต้องใช้เวลา 6 ปี ตอนนี้เริ่มต้นทำการศึกษา ก็ต้องดูผลกระทบต่างๆให้รอบคอบ มีการศึกษาปากทางเข้าแหลมฉบัง และพัฒนาเส้นทางให้มีประสิทธิภาพในการเข้าสู่แหลมฉบังได้ และกทพ.ทำทางยกระดับที้ค้างที่ชลบุรี เพื่อเข้ามาทางแหลมฉบัง และมอเตอร์เวย์เอง นอกจากไปที่มาบตาพุดแล้วก็จะไปที่แหลมฉบังด้วย

"วิทยา" แจงหลักประกันสุขภาพ ยัน3สิทธิใช้ได้เท่าเทียมกัน พร้อมผุดไอเดียกระตุ้นปชช.นำ'ยาเก่า'มาแลก'ไข่'


(23 มิถุนายน 2555) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี งดจัดรายการ"รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน"มอบหมาย นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แจงรายละเอียดหลักประกันสุขภาพ ดำเนินรายการโดย นายธีรัตถ์ รัตนเสวี
       
นายวิทยา กล่าวว่า นโยบายเรื่องการดูเลเรื่องสุขภาพของพี่น้องประชาชนนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบมอบให้ดูแลข้อเท็จจริงว่า ทำอย่างไรให้ใช้สิทธิจาก 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนข้ารราชการพลเรือน กองทุนหลักประกันสุขภาพ ปละกองทุนประกันสังคม ให้เกิดความเท่าเทียมกัน ไม่เหลื่อมล้ำกัน โดยมี กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง และกระทรวงสาธารณสุข มาบูรณาการเพื่อทำงานร่วมกัน โดยใช้ทั้ง 3 สิทธิได้อย่าเสมอภาค อย่างกรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งสามารถใช้สิทธิได้ทันที เพียงแค่มีบัตรประชาชนก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลแล้ว
       
"นายกรัฐมนตรี ยังมอบหมายในส่วนเรื่องโรคเอดส์ที่ต้องดูแลเรื่องการรรักษาให้มีความเสมอภาค โดยต้องทำให้ 3 กองทุนมีมาตราฐานเดียวกัน เมื่อประชาชนเข้ารับการรักษา และเมื่อดูแลการรักษาแล้ว จะต้องดูแลเรื่องการป้องการเพื่อไม่ให้เกิดผู้ป่วยโรคเอดส์รายใหม่ ซึ่งตรงนี้ทางกระทรวงก็จะนำมาสรุปเพื่อหาข้อมูลที่ชัดเจนในการดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน หาข้อที่ดีที่สุดเพื่อดูแลสุขภาพของคนไทย ส่วนการรักษาโรคไต ไตวาย ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนมาก และขั้นตอนการรักษาค่อนข้างยุ่งยากไม่ว่าจะเป็นการล้างไต การดูแลก็ดี การพบหมอ การล้างช่องทอง การล้างผ่านเส้นเลือด ตรงนี้ นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ขอให้ดูแลผู้ป่วยโรคนี้โดยใช้ทั้ง 3 สิทธิได้อย่างครอบคลุม" นายวิทยา กล่าว
       
นายวิทยา กล่าวต่อว่า "กรณียาที่ใช้ในการรักษาที่ประชาชนเข้ารักการรักษาและมีการเปลี่ยนสิทธิ หรือเปลี่ยนโรงพยาบาลรักษาและกลัวว่าจะไม่ได้ยาเดิมนั้น ทางกระทรวงเล็งเห็นถึงความสำคัญและได้มีการตั้งคณะกรรมการดูและเรื่องยาโดยรวมทั้ง 3 กองทุน หาข้อสรุปว่า ควรซื้อยาลักษณะแบบไหนอย่างไร เพื่อให้เกิดบรรทัดฐานเดียวกัน"


"ในบัญชียาหลักจะมีหารพูดคุยกัน เพื่อแสวงหายาที่เหมาะสมและราคาที่เหมาะสม เพื่อเป็นปะโยชน์แก่พี่น้องประชาชน อีกทั้งจะมีการกระตุ้นให้ให้ประชาชนนำยาเก่า หมดอายุแล้วมาแลกกับไข่ เนื่องจากยาที่ได้ไปใช้ไม่หมด และมีจำนวนมาก แก้ปัญหาไม่นำยาเก่าที่หมดอายุมาใช้อีกและส่งผลให้สุขภาพเสื่อมลง ซึ่งช่วยลดงบประมาณ แต่ยืนยันไม่ลดคุณภาพของยาแน่นอน" นายวิทยา กล่าว

วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

รมว.คลัง เผย รัฐบาลพร้อมจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น หากตลาดหุ้นได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ยุโรป มั่นใจยังไม่ถึงเวลา เชื่อเศรษฐกิจไทยแข็งแรง

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
(21 มิถุนายน 2555) - นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลมีความพร้อมที่จะจัดตั้งกองทุนพยึงหุ้น หากตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจจากประเทศในยูโรโซน ซึ่งในอดีตเมื่อปี 2545-2546 ก็ได้มีการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวขึ้น โดยให้ร่วมกับนักลงทุนสถาบัน ซึ่งรวมเงินของกองทุนเกือบ 1 หมื่นล้านบาท แต่ในครั้งนี้หากเกิดเหตุการณ์ที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลง ก็เชื่อว่าเม็ดเงินที่จะมาจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นก็จะมากกว่าครั้งที่ผ่านมา โดยในเบื้องต้นได้มีดารหารือกับนักลงทุนสถาบันไปบ้างแล้ว โดยรายละเอียดของขึ้นตอนนักลงทุนสถาบันก็ได้รับทราบเป็นอย่างดี เพราะได้เคยปฏิบัติไปทำให้กลไลการอนุมัติวงเงินจึงทำได้ไม่ยากนัก แต่การปฏิบัติรัฐบาลจะพยายามเข้าไปเกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด เพราะเป็นเรื่องของเอกชนที่ต้องดำเนินการเพราะในการจัดตั้งกองทุนในครั้งที่ผ่านมา นักลงทุนสถาบันก็คำนึงถึงความเสี่ยงที่จะเข้าไปดูแลตลาดหุ้นไทย แต่ผลตอบแทนที่ได้รับ ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ในด้านของเสถียรภาพของราคาหุ้นและผลตอบแทนการลงทุนของนักลงทุนสถาบัน

"ขณะนี้กำลังประเมินอยู่ว่าไทยกำลังจะได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปอย่างไรบ้าง ซึ่งมาตรการที่ได้เคยดำเนินการมาแล้วในอดีต ก็สามารถดำเนินการได้ทันที แต่มาตรการใดที่ไม่เคยทำก็กำลังพิจารณาอยู่ว่าควรทำหรือไม่"

"โดยมาตรการกองทุนพยุงหุ้นก็มองว่าสามารถดำเนินการได้ทันที ซึ่งรัฐบาลก็มีความพร้อมที่จะจัดตั้งกองทุนหากตลาดหุ้นไทยตก ซึ่งการปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทยในรอบก่อนก็ยังอยู่ในขั้นตอนการตัดสินใจ แต่ในรอบนี้หากเกิดขึ้น ก็คงจะจัดตั้งกองทุนได้ในไม่กี่วัน พราะในช่วงที่ผมเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ ปี 2545-2546 ก็ได้มีการตั้งกองทุนพยุงหุ้นโดยร่วมกับนักลงทุนสถาบัน ดังนั้นหากจะจัดตั้งกองทุนแล้วก็พร้อม เพราะที่ผ่านมามีการคุยกับนักลงทุนสถาบันไปบ้างแล้ว ซึ่งผมมองว่ามองตาก็รู้ใจแล้ว" นายกิตติรัตน์กล่าว

อย่างไรก็ตามยังเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยจะยังไม่ปรับตัวลงแรง เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังคงมีความแข็งแกร่ง รวมไปถึงการดำเนินงานของบริษัทจะทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถรับมือวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปได้เป็นอย่างดี

ผู้แทนการค้าไทย ขยายความร่วมมือการค้าและการลงทุนภาคเอกชนไปต่างประเทศ






ดร โอฬาร  ไชยประวัติ  ประธานผู้แทนการค้าไทย  ร่วมเป็นสักขีพยานการประชุม WEF EA ในการลงนามความร่วมมือระหว่างหอการค้าสองประเทศ คือ ประเทศไทย และราชอาณาจักรบาห์เรน   ในการขยายความร่วมมือ ด้านความมั่นคงทางอาหาร  ในการสั่งซื้อข้าว เพื่อเป็นคลังสำรองด้านอาหาร  และธุรกิจก่อสร้าง การท่องเที่ยวรวมถึงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ    ที่ครอบคลุมทั้งตะวันออกกลาง และประเทศในทวีปอาฟริกา  ซึ่งบาห์เรนมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด  ภายใน 3 เดือนหลังจากลงนามเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2555 รวมถึงจะจัดให้มีคณะทำงานเพื่อ พัฒนาความก้าวหน้าต่อเนื่องต่อไปภายใน 6 เดือน อาทิ การจัดตั้งคลังสินค้าเพื่อจัดจำหน่ายไปยังประเทศที่สาม ในทั้งสองประเทศ  

นอกจากนี้ ดร โอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย และ นางลินดา  เชิดชัย ผู้แทนการค้าไทย ในฐานะตัวแทนของ ฯพณ ฯ นายกรัฐมนตรี  เดินทางไปร่วมงาน Future of Asia ที่กรุงโตเกียว  ประเทศญี่ปุ่น  ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้แทนการค้าไทย  และ JETRO ในการติดตามช่วยเหลือ ธุรกิจญี่ปุ่น และธุรกิจไทยภายหลังสภาวะน้ำท่วม  ให้มีความร่วมมือไปลงทุนร่วมกันกับเอกชนในประเทศอาเซียน ที่มีการตื่นตัวด้านการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าว กระโดด  ในระบบเศรษฐกิจใหม่ อาทิ  สาธารณรัฐเมียนมาร์  ประเทศกัมพูชา ฯ

ตลอดจนได้มีการหารือกับทูตอาร์เจนตินา ประจำประเทศไทย  ในการส่งเสริมให้เอกชนไทยร่วมมือค้าขาย และลงทุนกับเอกชนในทวีปอเมริกาใต้ ในด้านอาหาร  พลังงาน  และสินค้าอุตสาหกรรมอื่นที่ทั้งสองฝ่ายมีความเชี่ยวชาญ โดยจัดตั้งสภาธุรกิจร่วมค้าขายกัน  เพื่อเป็นการขยายตลาดส่งออกทั้งทางตรง และทางอ้อมของประเทศไทย

ดร. ธิติวัฒน์ / ข่าว

วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

นายกฯ เน้นย้ำครม.ให้ความสำคัญในการที่จะหาคำตอบคลี่คลายแก้ไขปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชน


(19/6/2012) นายกรัฐมนตรี เผยในโอกาสเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ และตรวจราชการติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับข้อสั่งการต่าง ๆ นายกรัฐมนตรีพบเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก จึงเน้นย้ำคณะรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการที่จะหาคำตอบคลี่คลายแก้ไขปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชน



วันนี้ (19 มิ.ย.55) เวลา 11.00 น. ณ โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท จังหวัดชลบุรี ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี นอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ซึ่งมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นางสาวศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมว่า นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางมาตรวจราชการติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับข้อสั่งการต่าง ๆ และการประชุมสำคัญ ๆ นั้น สิ่งที่นายกรัฐมนตรีพบ คือประชาชนจะนำเรื่องมาร้องเรียนจำนวนมาก โดยเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนพิจารณาจากความสำคัญของเรื่องและพิจารณาจากเรื่องที่ติดค้างรอการช่วยเหลือแก้ไขอยู่เป็นเวลาช้านาน ซึ่งเรื่องที่เข้าข่ายดังกล่าวมีด้วยกัน จำนวน 10 เรื่อง ที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เสนอ และเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้นำมารายงานให้คณะรัฐมนตรี รับทราบ ดังนี้

1. คัดค้านโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง 2. คัดค้านโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมระยอง (บ้านค่าย) 3. ขอให้ระงับการขยายพื้นที่การสร้างนิคมอุตสาหกรรมโรจนะในพื้นที่ตำบลหนองบัวบ้านค่าย 4. ขอให้ระงับ ทบทวน การลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในเขตประกอบการอุตสาหกรรม ไอ อาร์ พี ซี 5. คัดค้านการสร้างโรงผลิตถ่านหินโค้ก 6. ประชาชนชุมชนตำบลบ้านฉาง อ.เมือง จ.ระยอง ซึ่งตั้งอยู่ติดโรงงานอุตสาหกรรม ขอให้ทำแนวป้องกัน แนวกันชน และกำหนดขอบเขตที่ชัดเจน 7. เสนอมาตรการเพื่อนำสู่การปฏิบัติจากกรณีเหตุระเบิดและเพลิงไหม้โรงงาน บีเอสที อิลาสโตมอร์ 8. ขอให้มีการแก้ไขผลกระทบจากการรั่วไหลของน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมี จากเหตุเพลิงไหม้โรงงาน บีเอสที อิลาสโตมอร์

โดย 8 เรื่องแรกดังกล่าว ทางสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาส่งเรื่องที่เกี่ยวกับผลกระทบของการนิคมดังกล่าวนั้น ให้กระทรวงอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดระยองพิจารณาดำเนินการ และให้รายงานผลดำเนินการให้นายกรัฐมนตรี รับทราบ

สำหรับเรื่องที่ 9. ขอให้สั่งการให้ยุติเรื่องที่กรมประมง และคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติจะขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี ให้มีการจดทะเบียนเรืออวนลากที่ทำการประมงโดยผิดกฎหมาย หรือเรืออวนลากเถื่อนที่ลักลอบทำการประมงโดยไม่มีทะเบียนและอาชญาบัตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 2,107 ลำ

และ 10. ขอให้ช่วยคลี่คลายความทุกข์ของชาวบ้านหมู่บ้านทรัพย์สมบูรณ์ เนื่องจากหมู่บ้านอยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนคาบเกี่ยวป่าไม้ถาวรทำให้ไม่สามารถทำนิติกรรมได้

ทั้งนี้ให้ส่งเรื่องเกี่ยวกับการจดทะเบียนเรือลากอวน ตามข้อ 9. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาดำเนินการ และกรณีหมู่บ้านตั้งในพื้นที่เขตป่าสงวน ตามข้อ 10. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย พิจารณาดำเนินการ และให้รายงานผลการดำเนินการกราบเรียนนายกรัฐมนตรีทราบ

อย่างไรก็ตามก่อนที่จะนำเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าวเสนอขึ้นมาขอให้นำเรียนรองนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง)ที่กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่ (ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด) ทราบ เพื่อการกำกับติดตามผลการดำเนินการ

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำคณะรัฐมนตรี ขอให้ความสำคัญในการที่จะหาคำตอบคลี่คลายแก้ไขปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนมาด้วย ส่วนเรื่องอื่นนอกจากเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ก็จะมีการส่งเรื่องทั้งหมดให้ ศูนย์บริการประชาชน (1111) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าระบบรับเรื่องร้องเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อการติดตามเรื่องต่อไป

วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

รองนายกฯกิตติรัตน์ลงพื้นที่ตรวจอ่างเก็บน้ำมาบประชันที่ของบประมาณขุดลอก 30ลบ.


รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจอ่างเก็บน้ำมาบประชัน  ต.โป่ง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้ของบประมาณขุดลอกอ่างเก็บน้ำดังกล่าว เพื่อหวังเพิ่มความจุการกักเก็บน้ำให้เพียงพอแก่การอุปโภค-บริโภค 

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง พร้อมด้วย นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาอ่างเก็บน้ำมาบประชัน ซึ่งประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำ ทั้งนี้นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี รายงานว่า แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในเมืองพัทยามากถึง  7 ล้านคน ทำให้ใน 1 ปี มีการใช้น้ำ 87 ล้านลูกบาศ์กเมตร ซึ่งการประปานครหลวงผลิตน้ำได้เพียงปีละ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงจำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยของบประมาณจากรัฐบาล 30 ล้านบาท เพื่อมาใช้ขุดลอกอ่างเก็บน้ำ มาบประชันในพื้นที่ 300 ไร่ ซึ่งจะสามารถเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้น 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ใช้เวลาดำเนินการ 4 เดือน

อ่างเก็บน้ำมาบประชันมีความจุ 16.6 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ใช้น้ำได้จริงแค่ 9.8 ล้านลูกบาศ์กเมตร , นอกจากนี้การเร่งรัดดำเนินโครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยไข่เน่าและอ่างเก็บน้ำมาบหวายโสม ซึ่งมีความจุอ่างฯรวมกันประมาณ 8 ล้านลูกบาศ์กเมตรต่อปี จะสามารถผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำมาบประชันได้ 4 ล้านลูกบาศ์กเมตรต่อปี โดยคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จภายใน 2 ปี และน้ำจากอ่างเก็บน้ำชากนอกอีก 2 ล้านลูกบาศ์กเมตรต่อปี ก็จะช่วยให้เมืองพัทยามีต้นทุนน้ำรวม 74 ล้านลูกบาศ์กเมตร เป็นการรองรับความต้องการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และการท่องเที่ยว

ข่าว/ปิยาพรรณ ยังเทียน-สวท.
ศิริวรรณ-สนข./เรียบเรียง

Prime Minister Calls for Green Environmental Plan in Rayong Province




Prime Minister Yingluck Shinawatra has urged the Governor of Rayong province, the Governor of the Industrial Estate Authority of Thailand, and local entrepreneurs to work together in formulating a green environmental plan for the Map Ta Phut Industrial Estate area in Rayong province.

The call was made during the Prime Minister’s inspection tour of Map Ta Phut before the mobile Cabinet meeting on 18-19 June 2012 in Chon Buri.

She explained that the green environmental plan seeks to bring about environment-friendly conditions in the local community through various ways, such as the planting of more trees.

The Prime Minister assigned the Ministry of Interior to look into the town plan of Rayong by developing green-belt areas into more public parks for recreational purposes.

She instructed the Department of Industrial Works to tighten controls on the issuance of licenses for industrial operators to ensure that the operations of local industries are up to international standards.

During the inspection tour, the Prime Minister received complaints from several groups of local residents, who were suffering from various problems. She asked responsible ministers and the Governor of Rayong to look into the complaints and report their assistance periodically in order to ease the problems.

18 June 2012

วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2555

รมช.คมนาคมเห็นด้วยกับโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งและปรับปรุง ภูมิทัศน์ริมทะเล ของ จ.จันทบุรี


รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเห็นด้วยกับโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งและปรับปรุง ภูมิทัศน์ริมทะเล ของจังหวัดจันทบุรีที่จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลในการประชุม ครม.สัญจร ภาคตะวันออก 

ในการลงพื้นที่ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะที่เดินทางไปตรวจเยี่ยมพื้นที่โครงการที่จังหวัดจันทบุรีที่จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลในการประชุม ครม.สัญจร ภาคตะวันออก  3 โครงการ จาก 5 โครงการในกรอบวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท  ประกอบด้วย 1.โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งและปรับปรุงภูมิทัศน์ริมทะเล บ้านปากน้ำแขมหนู ตำบลตะกาดเง้า อำเภอท่าใหม่ งบประมาณ 12 ล้านบาท 2.โครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวอำเภอแหลมสิงห์ ถนนสายบางเคียน 2 หมู่ที่ 2 ตำบลคลองน้ำเค็ม อำเภอแหลมสิงห์ งบประมาณ 12 ล้านบาท และ 3.โครงการพัฒนาเส้นทางเข้าศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริฯ ตำบลท่าหลวง อำเภอมะขาม งบประมาณ 12 ล้าน 4 แสน 3 หมื่น ห้าพันบาท โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าเห็นด้วยกับโครงการของจังหวัดจันทบุรีที่จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งและปรับปรุงภูมิทัศน์ริมทะเล บ้านปากน้ำแขมหนู อำเภอท่าใหม่ เหมาะสมที่จะพัฒนาเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวได้ เพราะขณะนี้ทางหลวงชนบทได้ทำเส้นทางไว้รองรับแล้ว มีจุดขายสินค้าของชาวบ้านซึ่งตรงกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่จะให้สินค้าของชาวบ้านในท้องถิ่นได้วางขายตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ สร้างรายได้แก่ประชาชน หากโครงการได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี จังหวัดจันทบุรีสามารถดำเนินการได้ภายใน 15 วัน

นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า หากทางจังหวัดจันทบุรี มีปัญหาเรื่องโลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร การขนส่งผลไม้ไปสู่ผู้บริโภคปลายทาง และมีปัญหาเรื่องเส้นทางคมนาคมไม่สะดวกขอให้ทางจังหวัดรีบแจ้งให้กระทรวงคมนาคม เพื่อจะได้เร่งแก้ไข ปรับปรุง ซ่อมแซม อย่างเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโดยทันที

ส.ปชส.จันทบุรี / ข่าว
วันวิศาข์   ภาคสุวรรณ์ / เรียบเรียง

รัฐเร่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ได้2ล้านล้านบ.ภายใน5ปี


"อธิบดีกรมการท่องเที่ยว ระบุ รัฐบาลเร่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ได้ 2 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี"



อธิบดีกรมการท่องเที่ยว ระบุ รัฐบาลเร่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ได้ 2 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี
อธิบดีกรมการท่องเที่ยว ระบุ รัฐบาลเร่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ได้ 2 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี ตามนโยบายที่รัฐบาลประกาศไว้ พร้อมย้ำให้ทุกภาคส่วนต้องทำงานร่วมกันเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศให้มากขึ้น

นายสุพล ศรีพันธุ์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยถึงการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการท่องเที่ยวขับเคลื่อนนโยบายสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 2 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี ที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมในช่วงบ่ายวันนี้ (17 มิถุนายน 2555)      

ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ระหว่างวันที่ 18-19 มิถุนายน 2555 ที่พัทยา จังหวัดชลบุรี อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า ที่ประชุมจะพิจารณาและหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวจะเข้าประเทศเป็นจำนวนถึง 2 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี ตามนโยบายรัฐบาลที่ประกาศไว้ ซึ่งหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ทั้งกระทรวงคมนาคม เรื่องการขยายรันเวย์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปี การใช้ประโยชน์จากท่าอากาศยานภูเก็ต และหาดใหญ่ ที่ถือเป็นท่าอากาศยานที่นักท่องเที่ยวใช้เป็นเส้นทางเดินทางเข้าไทย รวมทั้งการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ไม่เอารัดเอาเปรียบ และให้บริการการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น เพื่อเป็น  การดึงดูดในการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศด้วย เนื่องจากตัวเลขจากกรมการท่องเที่ยวพบว่านักท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 70 เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มเดิม ๆ ที่เข้ามาเที่ยวประเทศไทย และอีกร้อยละ 30 เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่

ข่าว/กรรณิกา แก้วใส-สวท.
ศิริวรรณ-สนข./เรียบเรียง

วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2555

"ยิ่งลักษณ์" เผยแผนรับมือ ผลกระทบ "วิกฤตยุโรป"

รายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน
วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน 2555


(16 มิถุนายน 2555) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 08.00 น. นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จัดรายการ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน" ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยและสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหา เศรษฐกิจยุโรป ที่ขณะนี้รัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมในการหารือร่วมกระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ฯ และธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อประเมิณผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤติการเงินในยุโรปเมื่อวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยนางสาวยิ่งลักษณ์กล่าวว่า “เนื่องการสหภาพยุโรปยังไม่มีข้อสรุปแนวทางแก้ไขสถานการณ์ปัญหา เศรษฐกิจยุโรปที่ชัดเจน รัฐบาลจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ทั้งนี้ทางคณะทำงานได้ประเมิณถึงผลกระทบที่จะเกิดทั้งทางตรงและทางอ้อมซึ่งได้ส่งผลกระทบในภาคส่งออกเพราะประเทศคู่ค้าการส่งออกลดลง อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นรัฐบาลเห็นความสำคัญและความผันผวนมาแล้ว รัฐบาลจึงได้เน้นสร้างความแข็งแกร่งเศรษฐกิจในประเทศ และผลกระทบในด้านอื่นๆที่เป็นห่วงโซ่อุปทาน เตรียมมาตรการรองรับโดยใช้เครื่องมือทางด้านการเงินการคลังเพื่อสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม SME และเพื่อเป็นการไม่ประมาทได้มีการสั่งและการให้สภาพัฒน์ติดตามอย่างใกล้ชิด เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เร่งรัดนโยบายเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชน การลงทุนของภาครัฐ และการสร้างงานเป็นหลัก”



นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์ผลกระทบเป็นรายภาคอุตสากรรม เพื่อออกมาตรการรองรับผลกระทบ และกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นรายภาค และเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนตลอดเวลาจึงได้ให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจเป็นประจำทุกสัปดาห์เพื่อเกาะติดสถานการณ์


นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวเสริมอีกว่า “ประเทศไทยมีรากฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแรง ถ้าเราหมั่นหาตลาดลูกค้ารายใหม่ๆให้กับประเทศ ไม่อิงกับตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป เพื่อลดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยเฉพาะในภาคส่งออกก็จะสามารถผ่านวิกฤตินี้ไปได้ ด้านการหารายได้เข้าประเทศในส่วนอื่นๆ ทางรัฐบาลได้จัดให้มีการหารือร่วมภาคเอกชนในธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อหาแนวทางในการเปิดตลาดใหม่ กับค้ารายใหม่ในวันอาทิตย์นี้ (17 มิถุนายน 2555) เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับภาคเอกชน เตรียมรับมือกับผลกระทบโดยการเจาะกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวใหม่ๆ ลดปัญหาอุปสรรคต่างๆสำหรับเพื่อกระตุ้นในนักท่องเที่ยวมาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น”

วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2555

"ยิ่งลักษณ์" ยันยัน รัฐบาลลุยสกัดน้ำท่วมเต็มที่


(9 มิถุนายน 2555) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 08.00 น. นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จัดรายการ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน" ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยและสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โดยเป็นการถ่ายทำรายการระหว่างลงเรือของกองทัพเรือจากท่าเทียบเรือหอประชุมกองทัพเรือ เพื่อตรวจดูระดับน้ำและความคืบหน้าการซ่อมแซมแนวพนังกั้นน้ำสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนที่จะเทียบเรือที่ท่าเรือวัดลุ่มคงคาราม อ.บางกรวย จ.นนทบุรี โดยมีชาวบ้าน และกลุ่มคนเสื้อแดง มารอให้การต้อนรับและมอบดอกกุหลาบ เป็นกำลังใจ ก่อนที่จะขึ้นรถสองแถว หมายเลขทะเบียน 10-1694 นนทบุรี เดินทางมายังโรงเลื่อยไม้เก่า ใน อ.บางกรวย เพื่อพบปะชาวบ้าน ข้าราชการ


นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวว่า "รัฐบาลได้มีการปรับปรุงบูรณาการในส่วนของการจัดเก็บข้อมูลใหม่ทั้งหมดด้วยการนำระบบ Single command มาใช้ ซึ่งจะเป็นการรวบรวมข้อมูลจากทุกจุดรวมทั้งการพยากรณ์อากาศแบบ real time ซึ่งจะทำให้มีความเป็นเอกภาพมากขึ้นและมีการตัดสินใจได้แม่นยำขึ้น"

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "มีการติดตามและตรวจการบ้านรัฐมนตรี รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเตรียมการรับมือกับสถานการณ์น้ำทุกวัน และในสัปดาห์หน้าจะลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าด้วยตนเองอีกครั้ง ในลักษณะของการจัดคาราวานลงพื้นที่ไล่ขึ้นไปตั้งแต่พื้นที่ปลายน้ำ กลางน้ำ ไปถึงต้นน้ำ โดยจะเน้นในจุดที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดในช่วงอุทกภัยปีที่ผ่านมา ทั้งในแผนระยะเร่งด่วน 4 แผนที่ได้สั่งการไปก่อนหน้านี้ คือการปรับระดับน้ำในเขื่อน การเสริมแนวคันกั้นน้ำ การซ่อมแซมประตูระบายน้ำ การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ผลักดันน้ำในจุดที่มีปัญหา และการขุดลอกคูคลอง รวมทั้งแผนระยะยาวที่ต้องทำควบคู่กันไป ซึ่งวันนี้ถือว่าในส่วนของพื้นที่ปลายน้ำสามารถทำงานคืบหน้าไปมากกว่า 70-80% แล้ว"

"ทั้งนี้จะให้ความสำคัญกับพื้นที่ปลายน้ำมากขึ้นทั้งใน กทม.และปริมณฑล เนื่องจากเป็นพื้นที่ราบ ลุ่มต่ำ และต้องปกป้องเขตเศรษฐกิจ โดยจะมีการเสริมคันกั้นน้ำนอกแนวคันพระราชดำริเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าในตัวเมือง ขณะที่ในพื้นที่จ.นนทบุรี ในปีนี้ได้มีการสร้างแนวคันกั้นน้ำชั่วคราวไปก่อน เนื่องจากแผนระยะยาวในการก่อสร้างประตูระบายน้ำทั้งที่บางกรวย ปากเกร็ดและบางบัวทอง รวมทั้งแนวเขื่อนทั้งหมด จำเป็นต้องใช้เวลาก่อสร้างนานประมาณ 2 ปี แต่ก็เชื่อว่าจะแข็งแรงพอที่จะปกป้องพื้นที่ได้" นายกรัฐมนตรี กล่าว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยืนยันว่า รัฐบาลทำงานเต็มที่เท่าที่ศักยภาพมีอยู่ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และไม่ประมาท ซึ่งหากปริมาณน้ำเท่ากับปีที่แล้ว ก็น่าจะรับมือได้ แต่หากปริมาณน้ำมากกว่า ก็มีการเตรียมแผนเผชิญเหตุ รองรับไว้ทั้งหมด แต่ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกส่วนราชาการและประชาชนด้วย ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียอมรับว่ารู้สึกท้อที่ถูกสังคมนำคำว่า "เอาอยู่" มาเป็นคำแซวตนเอง ทั้งๆ ที่เป็นเพียงแค่สถานการณ์หนึ่งในช่วงน้ำท่วมปีที่แล้วเท่านั้น


วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ยิ่งลักษณ์ ยืนยันแท็บเล็ตป.1‎ เติมภูมิปัญญาความรู้ให้เยาวชน


(7 มิถุนายน 2555) น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานเปิดตัวและส่งมอบแทปเล็ตจำนวน 2,000 เครื่องให้กับตัวแทนนักเรียนชั้น ป.1จากโรงเรียนต่าง  ๆทั้ง 4 ภูมิภาค และตัวแทนวิทยากรในทุกพื้นที่ ได้นำไปศึกษาพัฒนาครูประมาณ 50,000 คน เพื่อเตรียมพร้อมในการนำไปส่งเสริมการเรียนให้กับเด็กนักเรียน ตามโครงการ One tablet PC Per Child ภายใต้แนวคิด “เติมปัญญาด้วนเทคโนโลยี”   โดยนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวมอบนโยบายในตอนหนึ่งว่า ตนรู้สึกภูมิใจที่โครงการ One tablet PC Per Child ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพราะกว่าที่จะดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรมได้ต้องใช้ระยะเวลา ทั้งเรื่องการพัฒนาเนื้อหาและการจัดซื้อจัดจ้างให้มีความเหมาะสม รัฐบาลตระหนักดีถึงความห่วงใยของผู้ปกครอง ดังนั้นเราจะมีการอบรมครูและผู้ปกครองให้รู้จักวิธีใช้ให้เหมาะสม และยืนยันว่ารัฐบาลมีระบบป้องกันการเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เป็นประโยชน์

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอยืนยันกับครู และผู้ปกครองว่า โครงการนี้ไม่ใช่เป็นโครงการแจกแทปเล็ต แต่เป็นโครงการที่จะเติมภูมิปัญญาความรู้ให้กับเด็กเยาวชน ได้เรียนรู้เนื้อหาที่เป็นประโยชน์นอกเหนือจากตำราเรียน หากเยาวชนได้รับการปลูกฝั่งและเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก ก็จะเป็นการปลูกฝังให้เด็กได้เรียนรู้เร็วขึ้น โดยเฉพาะเด็กนักเรียนชั้นป.1 ที่อยู่ในช่วงวัยที่ต้องการเรียนรู้ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ซึ่งจะทำให้เด็กเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีได้อย่างดี โดยยืนยันว่าเด็กทุกคนจะได้รับการแจกแทปเล็ตพีซีอย่างทั่วถึง เท่าเทียมกันทั่วประเทศ ทั้งนี้เนื้อหาที่บรรจุอยู่ในแทปเล็ต นอกเหนือจากเป็นเนื้อหาที่เป็นหลักสูตรการเรียนแล้ว ยังเพิ่มเติมเนื้อหาในรูปแบบของมัลติมีเดีย และความรู้รอบตัวต่างๆ อาทิ หลักธรรมคำสอน และพระราชกรณียกิจ เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้และพัฒนาได้ทันกับเทคโนโลโย  โดยจะมีการทบทวนประเมินผลโครงการต่อไปในอนาคตร่วมกับครูและผู้ปกครอง และยังจัดให้มีสายด่วน 1111 กด 8 เพื่อช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาในการใช้แทปเล็ตและการซ่อมบำรุงสำหรับนักเรียนและผู้ปกครองให้เกิดความสะดวกอีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้แทปเล็ต พีซีในโครงการนี้ ได้บรรจุบทเรียนได้ 336 เรื่อง โดยมีการจัดวางหมวดหมู่ตามวิชาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งหมด 5 สาขาวิชา ประกอบด้วย วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา และคณิตศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีอีบุ๊คหรือหนังสืออีเล็คโทรนิค ให้อ่านประกอบด้วยเพื่อเป็นการสร้างโอกาสและความเท่าเทียมกันทางการศึกษาให้กับเด็กไทยทั่วประเทศด้วย ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าว่าจะกระจายแท๊ปเล็บพีซีให้ได้ทั่วประเทศภายในปี 2556.

วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555

นายกฯย้ำพรบ.ปรองดองไม่ใช่เรื่องคืนเงินให้ทักษิณ วอนยุติขัดแย้งเพื่อประเทศชาติเดินหน้า




นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน  เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน  ถึงการเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ... ว่า เป็นการเริ่มต้นในการสร้างความสามัคคีปรองดอง หลังประเทศชาติบอบช้ำมามาก   ในการพูดคุยทำความเข้าใจร่วมกัน โดยใช้เวทีของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีตัวแทนของประชาชนเป็นที่พิจารณา ที่สำคัญไม่ต้องการให้ประเทศชาติต้องอยู่ในวังวนความขัดแย้งไม่มีที่สิ้นสุด และร่วมกันผลักดันให้ประเทศไปข้างหน้า

สำหรับความวุ่นวาย และความเห็นแตกต่างที่เกิดขึ้นนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่จะเปิดใจ หันหน้ามาพูดคุยกัน หรือสามารถเสนอความเห็นต่างๆ เข้ามา เพื่อร่วมกันถกเถียงให้เกิดประโยชน์สูงสุด    ดำเนินการอยู่ภายใต้กรอบของประชาธิปไตย และกฎหมาย ให้ประเทศเกิดความสงบสุขและร่วมกันเดินไปข้างหน้า สร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศชาติ   ความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องการเมืองก็ต้องใช้กลไกทางการเมืองมาแก้ไข รัฐบาลแก้ไขปัญหาในส่วนของการบริหาราชการแผ่นดินความสงบให้เป็นไปตามกม.และความยุติธรรมให้เท่าทียมกัน เพราะอำนาจบริหารและนิติบัญญัติแยกกันอยู่แล้ว ส่วนการเลื่อนถกพ.ร.บ.ปรองดองนั้นก็อยู่ที่ประธานสภาเชื่อว่าท่านคงอยากเห็นบ้านเมืองสงบ ไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งและสภาคงมีทางออกร่วมกัน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า   ตนยังไม่เห็นร่างพ.ร.บ.ปรองดองแต่ก็เชื่อว่าทุกร่างก็มีประโยชน์กับทุกกลุ่ม   ซึ่งการจะให้ทุกคนลืมอดีตก็ยากเพราะบางคนสูญเสียคนเป็นที่รัก มีความเจ็บปวดไม่มีใครลืมได้ แต่อยากให้อภัยกันเพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้าถือเป็นเจตนาของการปรองดอง

นอกจากนี้   น.ส.ยิ่งลักษณ์  ยังกล่าว ไม่อยากให้มองว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง หากมีผลบังคับใช้จะเป็นการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายรัฐมนตรี  หรือใครอื่นบ้าง เพราะเป็นการมองที่ปลายทาง ซึ่งเป็นเรื่องเร็วเกินไป ขณะนี้อยากให้ทุกคนมองที่ต้นทางก่อน เพื่อให้กระบวนการปรองดองเกิดขึ้น วันนี้เราควรเริ่มหารือกระบวนการเรื่องปรองดองกันก่อน จึงขอเชิญ เวทีนอกรัฐสภา ควรรวมข้อคิดเห็น แล้วนำมาหารือหรือถกในสภามากกว่า
   

"เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการเอาเงินคืนให้ พ.ต.ท.ทักษิณ พี่ชาย อย่างแน่นอน เพราะมีการลงมติจากประธานคณะกรรมการทั้ง 35 คณะไปแล้วว่า ร่างพระราชบัญญัติปรองดองฉบับนี้ ไม่เกี่ยวกับการเงิน"

 ส่วนกรณีที่มีการประท้วงทั้งในสภาฯและนอกสภาฯจากกลุ่มผู้ชุมนั้น   น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า   ความขัดแย้งเกิดขึ้นมานานหลายคนมาจากพื้นฐานความเข้าใจที่ต่างกันการจะให้มารวมให้เป็นหนึ่งก็ต้องมีการถกเถียงถือเป็นเรื่องปกติแต่ให้อยู่ในกรอบความสงบ ตนในฐานะประชาชนก็อยากเห็นอะไรก็ได้ที่ประคองไปด้วยกันจูงมือไปด้วยกัน  อยากให้คนไทยมีความสุขไม่อยากเห็นบ้านเมืองมีหน้าตาของความขัดแย้ง อยากทำทุกอย่างให้เป็นไปอย่างสงบ สันติวิธี รัฐบาลทำคนเดียวคงไม่สัมฤทธิ์ผลก็ขอความร่วมมือจากทุกคนให้เปิดใจ มองไปข้างหน้าว่าจะทำอย่างไรพร้อมนำข้อเสนอกลุ่มผู้ชุมนุมทุกฝ่ายเสนอสู่สภาหาทางออกร่วมกัน

 "ประชาชนที่มาชุมนุมก็ขอให้อยู่ในขอบเขต กฏหมายและระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลพร้อมให้ความร่วมมือ ไม่ได้ห้าม แต่ไม่อยากเห็นความรุนแรงเช่นที่ผ่านมา อยากให้ทุกคนเดินไปข้างหน้าให้ยุติความขัดแย้ง ไม่เช่นนั้นก็อยู่ในวังวนความขัดแย้งไม่สิ้น แม้ลืมอดีตไม่ได้ แต่ขอให้ยุติเสียสละเพื่อประเทศชาติเพื่อคนรุ่นหลัง"นายกรัฐมนตรีกล่าว