วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

แท็บเล็ตวันละ 10 สลึง คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม





ผมได้มีโอกาสติดตามโครงการ One Table Per Child ซึ่งขณะนี้ควรจะอยู่ในระหว่างรอรับเครื่องเพื่อนำไปแจกกับนักเรียนชั้นประถม 1 ในฐานะที่ผมมีประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนมากว่า 10 ปี จึงมีคนมักจะถามความเห็นผมเสมอๆว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับโครงการนี้ ส่วนใหญ่ผมก็จะยิ้มๆและตอบว่าดีครับ ถ้าทำดีๆจะดีมากเลยนะครับ ในช่วงเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมา โครงการนี้ก็เป็นโครงการที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างสูง แต่เท่าที่ฟังๆดูก็จะเป็นการพูดถึงตัวเครื่องแท็บเล็ตซะเป็นส่วนใหญ่ ว่า จอเล็กไปหรือไม่ ใช้ android จะดีหรือ ถ้าดีควรจะใช้ android version อะไร ความเร็วเท่าไหร่ คุณสมบัติของเครื่องที่มีอยู่ในข้อกำหนดจะพอเพียงไหม มีบางกลุ่มก็จะกล่าวถึงสื่อการเรียนรู้บ้าง แต่จะพูดกว้างๆว่า “ถ้าแจกแท็บเล็ตแล้วไม่มีบทเรียน ก็อย่าแจกซะดีกว่า” เรื่องสุดท้ายที่เป็นห่วงกันมากก็คือ นักเรียนชั้นประถม 1 เด็กเกินไปหรือเปล่า ทำไมไม่แจก นักเรียนชั้นโตกว่านี้ หลังจากเฝ้าดูอยู่นานก็เลยอยากจะออกความเห็นบ้าง ลองอ่านดูนะครับ รับรองว่าเข้าใจง่าย จะไม่มีคำว่า GB IOS android หรือ wifi เลยสักคำ 



ผมตั้งหัวข้อเรื่องนี้ไว้ว่า แท็บเล็ตวันละ 10 สลึง คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม เพราะผมเชื่อของผมอย่างนั้นจริงๆ ก่อนจะเล่าถึงเหตุผลที่ผมคิดว่าคุ้ม ผมขออธิบายที่มาของ คำว่า 10 สลึงกันก่อน ผมก็เอามาจาก จำนวนงบประมาณต่อตัวที่รัฐบาลลงทุนซื้อเครื่องแท็บเล็ตที่เห็นประกาศว่าตัวละ 81 ดอลล่าห์หรือ 2,430 บาท หารด้วยเวลาที่นักเรียนจะใช้เครื่องซึ่งกำหนดไว้ 3 ปี แล้วหารออกมาเป็นจำนวนวัน ปัดเศษขึ้นนิดหน่อยเผื่อเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆในโครงการ ออกมาประมาณ 2.50 บาทต่อวัน เผอิญ 2.50 บาทในสมัยตอนผมอยู่ประถม 1 เขาเรียกกันว่า 10 สลึง ผมก็เลยขอคำว่า 10 สลึงแทน 2.50 บาท คงไม่ว่ากัน

คราวนี้ลองมาดูกันว่าที่ผมบอกว่า แท็บเล็ตวันละ 10 สลึง คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม ผมมีเหตุผลอย่างไรผมจะบรรยายให้ฟัง คุ้มที่ 1 คือการคุณครูจะมีเครื่องมือช่วยสอนที่มีประสิทธิภาพอยู่ในมือตลอดเวลาเมื่อต้องการ หลายท่านคงอาจจะไม่ทราบว่า ประเทศเรากำลังประสบปัญหาของการขาดครู โดยเฉพาะครูที่จบไม่ตรงวุฒิกับวิชาที่สอนเป็นจำนวนมาก ซึ่งผลกระทบในลักษณะนี้จะมีไม่มากกับนักเรียนชั้นเล็ก แต่จะมีมากเป็นทวีคูณกับเด็กโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับชั้น มัธยม 1 เป็นต้นไป ถึงอย่างไรก็ตามก็มิได้แปลว่าปัญหาการขาดครูจะไม่มีผลกระทบกับการเรียนการสอนชั้นประถม 1 โครงการ One Tablet Per Child จริงๆแล้วเขาแจกแท็บเล็ตให้ครูด้วย เพราะฉะนั้นจะเรียกว่า One Tablet Per Teacher ด้วยก็คงไม่ผิด ยิ่งไปกว่านั้น ในเครื่องแท็บเล็ตแต่ละเครื่อง เขาได้บรรจุสื่อช่วยสอน ไว้ให้ครูได้ใช้ในเวลาสอน เนื่อหาสาระช่วงใดตอนใดที่สอนยาก นักเรียนเข้าใจลำบาก ครูที่มีประสบการณ์น้อยจะสามารถใช้สื่อช่วยสอนที่ถูกออกแบบกลั่นกรองอย่างดีจากครูผู้ทรงคุณวุฒิในสาระการเรียนรู้นั้นๆ ไปใช้สอนในห้องเรียนได้อย่างสะดวก ซึ่งนอกเหนือจากวิธีสอนแล้ว สื่อที่บรรจุในเครื่องแท็บเล็ตยังประกอบด้วยตัวอย่าง และแบบฝึกหัดต่างๆให้ครูสามารถมอบหมายให้นักเรียนทำได้อย่างสะดวก เมื่อครูสามารถทำการสอนได้ง่ายขึ้นแล้ว ครูก็จะมีเวลามาใส่ใจเด็กในเรื่องอื่นๆ เช่น ศิลธรรม และ จริยธรรม เป็นต้น ถ้าผมถามท่านว่า เพื่อให้ครู ป 1 ของลูกของท่านมีเครื่องมือช่วยสอนที่จะทำให้ลูกของท่านสามารถเรียนได้รู้เรื่องมากขึ้น และมีเวลามาเอาใจใส่ดูแลบุตรหลานท่านเพิ่มเติม โดยจ่ายเงินวันละ 50 สตางค์ ท่านจะจ่ายไหมครับ อย่าเพิ่งรีบร้อนตอบ ฟังให้จบก่อนก็ได้


คุ้มที่ 2 คือการที่คุณครูสามารถประยุกต์ใช้แท็บเล็ตเป็นเครื่องมือในการทำกิจกรรมในชั้นเรียนที่สนุกสนานได้อย่างง่ายดาย ในเครื่องแท็บเล็ต นอกเหนือจากสื่อช่วยสอนแล้ว เขายังได้บรรจุกิจกรรมต่างๆที่เหมาะกับเด็กชันประถม 1 ตามสาระการเรียนรู้อย่างครบถ้วน ซึ่งในปัจจุบันนี้ครูผู้สอนจะต้องเป็นผู้คิดวิธีและสร้างอุปกรณ์ในการทำกิจกรรมขึ้นเองในโรงเรียน คุณภาพของสื่อก็จะหลากหลายขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความสามารถของครูแต่ละคน ต่อจากนี้ไปครูก็จะสามารถจัดกิจกรรมในชั้นเรียนได้อย่างง่ายดาย สนุกสนาน และถูกต้องตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ ผมได้นำกิจกรรมในแท็บเล็ตนี้ไปทดลองใช้กับนักเรียนชั้นประถม 1 มาแล้ว ได้ผลดีมาก และขอบอกเพิ่มเติมด้วยว่า โรงเรียนที่ผมไปทดลองใช้ไม่ได้อยู่ในเมืองนะครับ เป็นโรงเรียนที่เขาเรียกว่าโรงเรียนชายขอบที่จังหวัดเชียงราย ถ้ามีโอกาสคราวหน้าจะเอารูปให้ดู เห็นแววตาเด็กแล้วชื่นใจ


คุ้มที่ 3 คือการที่ลูกๆจะได้มีโอกาสทำการบ้านกับพ่อแม่ผ่านแท็บเล็ต นอกเหนือจากสื่อที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เขายังได้บรรจุการบ้านแนวใหม่ ผมเรียกว่า Interactive Homework การบ้านนี้ได้ถูกออกแบบผสมผสานกับเนื้อหาสาระที่เป็นมาตรฐานของกระทรวงศึกษาในระดับชั่วโมงต่อชั่วโมง ซึ่งมีหลายรูปแบบทั้งแบบถามตอบซึ่งจะเหมือนข้อสอบในปัจจุบัน และแบบ Edutainment เป็นการทำการบ้านแบบสนุกสนานแต่ได้ความรู้ การบ้านทั้ง 2 ประเภทได้ถูกออกแบบให้ผู้ปกครองสามารถมีส่วนร่วมกับบุตรหลานได้ด้วย เป็นการเพิ่มเติมกิจกรรมในครอบครัวที่เป็นประโยชน์ และผู้ปกครองก็จะสามารถเห็นถึงความก้าวหน้าของบุตรหลานของตนเองด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขอย่างทันท่วงที

คุ้มที่ 4 แท็บเล็ตจะเป็นเครื่องมีอกระตุ้นให้เกิดระบบการศึกษาที่ประเทศไทยของเรากำลังต้องการเป็นที่สุด การศึกษาที่ว่านี้คือ “การเรียนให้รู้วิธีที่จะเรียนรู้” หรือ Learn How To Learn เนื่องจากมนุษย์เราเมื่อพ้นจากการเป็นเด็ก จบการศึกษาจากโรงเรียน รวมไปถึงระดับอุมศึกษาแล้ว ทุกคนจะต้องออกไปต่อสู้ในชีวิตจริง สิ่งที่จำเป็นที่สุดที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ก็คือการที่เราจะสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ด้วยตนเอง วิธีการเรียนการสอนแบบ “ฟัง จด ท่อง สอบ” จึงไม่ได้ช่วยอะไรเลย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบุคลากรทางการศึกษาได้พยายามอย่างมากที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาของไทยให้เป็นแบบ “การเรียนให้รู้วิธีที่จะเรียนรู้” แน่นอนว่ามิได้เป็นเรื่องง่ายและต้องใช้เวลา อุปกรณ์แท็บเล็ตจะเป็นตัวจักรสำคัญอันหนึ่งที่จะทำให้ฝันของเราเป็นจริงเร็วขึ้น เนื่องจากธรรมชาติของการเรียนรู้ด้วยการใช้อุปกรณ์ IT เป็นธรรมชาติที่เอื้อต่อการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเด็กเอง การเรียนรู้จะเปลี่ยนจาก “ฟัง จด ท่อง สอบ” เป็น “ฟัง คิด ค้น เข้าใจ” ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องการในการทำงานในชีวิตจริง

สุดท้าย คุ้มที่ 5 คือการที่เด็กไทยจะเป็นผู้ใหญ่ไทยที่มีความพร้อมทางด้าน Information Technology ในระดับที่เรียกว่า “เป็นธรรมชาติ” จากการที่เขาเหล่านั้นมีโอกาสได้ใช้อุปกรณ์ IT ในกิจวัตรประจำวัน ทุกวัน เป็นเวลา 12 ปี ผมรับประกันได้เลยว่า เด็กไทยเหล่านี้เมื่อเรียนจบไป เขาจะมีศักยภาพทาง IT เหนือกว่าคนในรุ่นเราอย่างเทียบกันไม่ได้เลยทีเดียว ความสามารถในการใช้และเข้าถึง Information Technology อย่างเป็นธรรมชาตินี้ เป็นกุญแจแห่งความสำเร็จในการทำงานในอนาคตอย่างปฏิเสธไม่ได้

เอาละครับ คราวนี้ถ้าผมถามท่านว่า เพื่อให้ลูกของท่านได้ประโยชน์จากการแจกแท็บเล็ต 5 ประการที่กล่าวมาข้างต้น ได้มีโอกาสเรียนรู้ในระบบการศึกษาเทียบเท่ากับประเทศที่เจริญแล้ว และมีศักยภาพสามารถสู้ใครๆก็ได้ในเวทีระดับโลกในอนาคต โดยจ่ายเงินวันละ 2.50 บาท ท่านจะจ่ายไหมครับ ……… คราวนี้เชื่อผมแล้วใช่ไหมครับว่า แท็บเล็ตวันละ 10 สลึง คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม

บทความโดย ดร. วราวิทย์ กำภู ณ อยุธยา
นักวิจัยด้านการพัฒนาสื่อการเรียนการสอน
มหาวิทยาลัยลาดกระบัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น