วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

นักวิทยาศาสตร์ไทย เผยประโยชน์ 7 ประการ โครงการนาซ่าที่อู่ตะเภา

ดร.นริศรา ทองบุญชู
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "ดร.นริศรา ทองบุญชู" อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี  คณะวิศวกรรมศาสตร์  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้เผยแพร่ บทความสรุปประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ จากโครงการ SEAC4RS ของ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ ทั้งหมด 7 ประการ พร้อมแจ้งสิ่งที่ประเทศไทยสูญเสีย หากโครงการดังกล่าวถูกล้มเลิกหรือไม่ได้ดำเนินโครงการ 


ทั้งนี้ คณะนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของประเทศไทย ที่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวประกอบไปด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.เสริม จันทร์ฉาย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ดร.นริศรา ทองบุญชู คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, อาจารย์บุศราศิริ ธนะ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ว่าที่ร้อยตรี เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


สำหรับเนื้อหาที่เผยแพร่ดังกล่าว ที่รวบรวมโดย  ดร.นริศรา ทองบุญชู มีดังต่อไปนี้


สรุปประโยชน์ที่จะได้จากการมีโครงการ SEAC4RS(South East Asian Composition Cloud  Climate Coupling Regional  Study)

วัตถุประสงค์ของโครงการ
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์หลักๆ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับองค์ประกอบต่างๆ อากาศ(Composition)  เมฆ(Cloud)  ภูมิอากาศ(climate) ว่ามีการเชื่อมโยงการอย่างไร(coupling) เนื่องมากจากมีความเชื่อว่าลมมรสุมในเอเชียซึ่งเกิดจากความกดดันอากาศสูง หรือแอนติไซโคลนเป็นหนทางหลักที่นำมวลอากาศที่มีสารปนเปื้อนจากชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ไปยังสตราโทสเฟียร์  นอกจากนี้ลักษณะการใช้พื้นที่ และเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีลักษณะที่หลากหลาย ตั้งแต่ เกษตรกรรมกรรม อุตสาหกรรมการผลิต และบริการ ทำให้มีความแตกต่างกันทางด้านการปลดปล่อยมลพิษ นอกจากนี้ยังเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของโลกทำให้มีมลพิษปลดปล่อยจากการเดินเรืออีกด้วย ดังนั้นจึงมีคำถามทางวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นมาได้แก่



  • มลพิษทางอากาศที่ปลดปล่อยในบริเวณเขตร้อนชื้นเกิดการแพร่กระจายโดยกระบวนการพาในแนวระดับทีมีความสูงทั่วชั้นโทรโพสเฟียร์ได้อย่างไร
  • แก๊ส และละอองลอยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรระหว่างกระบวนการพาในแนวระดับที่มีความสูง และมีผลปฏิกิริยาเคมีในชั้นโทรโพสเฟียร์ตอนบน และตอนล่างของสตราโทสเฟียร์
  • ผลกระทบของละอองลอยจากมลพิษที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ และการเผาชีวมวลมีผลอย่างไรต่อสภาพภูมิอากาศในพื้นที่จากการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของลักษณะอุณหภูมิในบรรยากาศ และการเกิดเมฆ
  • ลักษณะการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบตามแนวระดับของลมมรสุมในเอเชีย และสามารถแสดงให้เห็นว่ามลพิษเคลื่อนที่จากชั้นโทรโพสเฟียร์ตอนบนไปยังตอนล่างของชั้นสตราโทสเฟียร์
  • การศึกษาทางด้านดาวเทียมต้องการยืนยันความถูกต้อง และการหาสหสัมพันธ์กับค่าที่ได้จากการตรวจวัดเพื่อให้สามารถมีประโยชน์ในการใช้งานเพื่อความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสภาวะบรรยากาศ  และกระบวนการได้ดียิ่งขึ้น


หน่วยงาน/นักวิจัยไทยที่มีส่วนร่วม
  1. สำนักฝนหลวง และการบินเกษตร
  2. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) 
  3. มหาวิทยาลัยศิลปากร  รศ.ดร.เสริม จันทร์ฉาย(ground-based remote sensing aerosols and  radiation)
  4. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  ดร.นริศรา ทองบุญชู  (ผู้เชี่ยวชาญแบบจำลองคุณภาพอากาศ)



ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการทำโครงการ

  • นักวิจัยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และองค์ความรู้ กับนักวิทยาศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญสูง และมีชื่อเสียงที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ นักศึกษาระดับปริญญาโท-เอกได้มีโอกาสได้เรียนรู้ในการทำวิจัยร่วม และมีประสบการณ์ที่หาได้ยากยิ่ง
  • คุณครู และนักเรียนทั่วประเทศจำนวน 99 คน ได้รับความรู้เกี่ยวกับระบบของโลก จากการโครงการอบรม เรื่อง  SEAC4RS ผ่านโครงการ  The Globe Program ของ สสวท  เมื่อวันที่ 5-6 มิถุนายน 2555 จากวิทยากรชาวไทย และนักวิจัยจากนาซ่า
  • ทางสำนักฝนหลวงได้รับประสบการณ์ และองค์ความรู้เพิ่มเติม จากการตรวจวัดองค์ประกอบทางฟิสิกส์ของอากาศ จากเครื่องบินของทางฝนหลวง และของนาซ่า  นอกจากนี้ยังได้ข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของละอองลอย และองค์ประกอบทางเคมีทำให้มีความเข้าใจ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ดียิ่งขึ้น
  • สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)  ได้เรียนรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับการยืนยันความถูกต้องของข้อมูลดาวเทียม  การปรับแก้ข้อมูลของดาวเทียมไทยไทยโชติ  เป็นต้น
  • มหาวิทยาลัยศิลปากร  ได้มีโอกาสทำวิจัยร่วม  การหาสหสัมพันธ์ระหว่างละอองลอยที่ได้จากการตรวจวัดจากภาคพื้นดิน  บนเครื่องบิน และจากดาวเทียม
  • สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  ได้ทำวิจัยร่วมได้ข้อมูลจากการตรวจวัดมลพิษที่บริเวณต่างๆ และแหล่งกำเนิดต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการปรับแก้แบบจำลองการแพร่กระจายมลพิษทางอากาศให้สามารถทำนายได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น  โดยข้อมูลของละอองลอย และองค์ประกอบทางเคมีที่คาดว่าจะได้จากการวัดระหว่างการบินในทะเล ใกล้ๆ พื้นที่ อ.สัตหีบ และ อ.แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี  และ อ.เมือง จ.ระยอง  มีความสำคัญอย่างมากในการศึกษาความเป็นไปของมลพิษจากอุตสาหกรรมในบริเวณดังกล่าวซึ่งเป็นบริเวณที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ  เนื่องจากไม่มีข้อมูลตรวจวัดในบริเวณที่ห่างจากแหล่งกำเนิด ในทะเล และในแนวระดับมาก่อน  นอกจากนี้เครื่องมือที่ใช้ในการตรวจวัดในเครื่องบินสำรวจของนาซ่ายังมีสมรรถนะทีสูงทำให้สามารถแยกวิเคราะห์สารเคมี  และละอองลอยได้ละเอียดกว่าที่อุปกรณ์ตรวจวัดของกรมคบคุมมลพิษ และ การนิคมอุตสาหกรรมฯ มีอยู่
  • จากผลการตรวจวัดทำให้สามารถได้องค์ความรู้ว่าแก๊ส  และละอองลอยที่ปลดปล่อยจากกิจกรรมต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง  ไฟป่า มีผลอย่างไรต่อคุณภาพอากาศ  การเกิดเมฆ  และฝน  ทำให้สามารถนำมาใช้ในการทำนายสภาพอากาศ และคุณภาพอากาศ เพื่อใช้ในการป้องกัน และวางมาตรการในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง และมลพิษทางอากาศได้อย่างถูกต้อง  และมีประสิทธิภาพ


สิ่งที่คาดว่าจะสูญเสียหากไม่ได้ดำเนินโครงการ
  • ประเทศไทยเสียประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
  • ประเทศในประชาคมอาเซียนที่อนุมัติโครงการแล้วเช่น สิงคโปร์  กัมพูชา และอินโดนีเซีย เสียโอกาสที่จะทำวิจัยร่วมกับโครงการ และนำองค์ความรู้ที่ได้มาจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ  การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และภูมิอากาศ ทั้งในระดับประเทศ และภูมิภาค
  • องค์การนาซ่า สูญเสียโอกาสในการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นประโยชน์กับโลก และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การที่ศึกษาในบริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้สามารถเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ที่มีก่อนหน้านี้ทำให้สามารถเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ ทางอุตุนิยมวิทยา มลพิษทางอากาศ และการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศได้เป็นอย่างดี
  • ประเทศไทยจะตอบสังคมโลกอย่างไร  และให้เหตุผลอย่างไรกับการปฏิเสธโครงการทางด้านสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยเอง  ประชาคมอาเซียน และโลก  ที่เข้ามาอย่างโปรงใส และขออนุญาตอย่างถูกต้องการกระบวนการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น