วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

นายกฯยิ่งลักษณ์ เดินทางกลับไทย หลังเยือนกัมพูชา


นายกรัฐมนตรี นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา
(13 กรกฎาคม 2555) - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ นายบุญทรง เตริยาภิรมณ์ รมว.พาณิชย์ ฯ เดินทางจากท่าอากาศยานดอนเมืองกรุงเทพฯ ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อกล่าวปาฐกถาต่อนักธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียนและร่วมงานเลี้ยงรับรอง ณ โรงแรม Le Meridien เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา โดยนายกฯและคณะจะเข้าหารือแบบทวิภาคีกับคณะของกัมพูชา นำโดย สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่โรงแรม Sokha Angkor


นายกรัฐมนตรี นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ พล.อ.เต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีสหภาพพม่า
เวลา 17.55 น.นายกฯและคณะเดินทางต่อไปยังโรงแรม Le Meridien เพื่อเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรอง (VVip Reception และ Cocktail Reception) ร่วมกับนางฮิลลารี่ คลินตัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐ เวลา 19.15 น. นายกฯจะเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำต่อการประชุมนักธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน และกล่าวสุนทรพจน์ โดยมีนาย Alexander Feldman ประธาน USABC กล่าวเปิดงาน ต่อด้ายนางฮิลลารี่จะกล่าวสุนทรพจน์ต่อ และตามด้วยนางสาวยิ่งลักษณ์ พล.อ.เต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีสหภาพพม่า สมเด็จฮุนเซนและปิดท้ายด้วย นายMyron Brilliant ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สภาหอการค้าอเมริกา กล่าวปิดงาน และเวลา 21.00น. นายกฯจะเดินทางกลับด้วยเครื่องบินแอมแบร์จากท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐกลับถึงท่าอากาศยานดอนเมืองในเวลาประมาณ 23.00 น.

น.ส.สาวศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลว่า การประชุมนักธุรกิจสหรัฐฯ - อาเซียน ภายใต้หัวข้อ Commitment to Connectivity (C2C) จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้นักธุรกิจของสหรัฐฯที่เข้ามาลงทุนในภูมิภาคอาเซียน และนักธุรกิจของอาเซียน ได้มีการพบปะแลกเปลี่ยนในเวทีสัมมนาเพื่อแสวงหาแนวทางความร่วมมือและการค้าการลงทุนกับภาครัฐบาลของแต่ละประเทศในอาเซียน อันจะเป็นการส่งเสริมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยมีภาคเอกชนชั้นนำจากสหรัฐและจากประเทศอาเซียนผู้แทนจากภาครัฐบาลจากประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนเข้าร่วมด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า การกล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงอาหารค่ำต่อนักธุรกิจสหรัฐฯ และผู้เข้าร่วมงานครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาความเชื่อมโยงในอาเซียน (ASEAN Connectivity) เพื่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งนอกเหนือจากการเพิ่มพูนศักยภาพตลาดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Market) ยังรวมถึงการร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา ทั้งเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียแปซิฟิก ที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นในปัจจุบัน พร้อมทั้งเชิญชวนภาคเอกชนสหรัฐฯ เข้ามามีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ประชาคมอาเซียนในด้านต่างๆ

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำให้เห็นถึงบทบาทของประเทศไทยในประชาคมอาเซียน และการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาการเชื่อมโยงทั่วภูมิภาค เพื่อการคมนาคม ติดต่อ สื่อสาร และการท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านการปรับปรุงเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง การจัดการความมั่นคงตามแนวชายแดน การพัฒนาแนวเชื่อมโยงการขนส่งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน (Land Bridge) จากท่าเรือน้ำลึกทวายในเมียนมาร์ สู่ท่าเรือแหลมฉบังของไทย รวมทั้ง ความสำคัญของภูมิภาคอาเซียนต่อโลก ที่มีความพร้อมในการเป็นฐานการลงทุนของเอกชนทั่วโลก จากปัจจัยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ทั้งพลังงานและอาหาร แรงงานฝีมือ และเทคโนโลยีการสื่อสาร ซึ่งการได้รับความสนับสนุนจากประเทศคู่เจรจาอย่างสหรัฐฯ ก็จะยิ่งเพิ่มศักยภาพของอาเซียนในอนาคตต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น